เทรดวอร์ "ภาษีทรัมป์" สหรัฐเสียหาย ทั่วโลกเสียหาย
รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ย้ำมาตลอดว่าได้เตรียมความพร้อมในการรับมือมาตรการทางการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ
โดยนายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2568 เพื่อศึกษาวางแผนและรับมือนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยกับสหรัฐเพื่อให้มีทิศทางที่ชัดเจนและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ โดยมี วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะทำงาน
ก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะประกาศอัตราการจัดเก็บภาษีในวันที่ 2 เม.ย.2568 ประธานคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาออกมาแถลงถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) โดยพร้อมที่จะเจรจาทันทีที่ผู้แทนการค้าสหรัฐรับนัดเจรจา และทันทีประธานาธิบดีสหรัฐประกาศอัตราภาษีออกมา หลายประเทศได้ทยอยประกาศแผนที่จะเจรจาต่อรองกับสหรัฐ รวมถึงจีนได้ประเทศถึงแนวทางที่จะตอบโต้สหรัฐ
ผลกระทบต่อประเทศไทยชัดเจนอยู่ที่การส่งออกที่จะเริ่มเห็นในไตรมาสที่ 2 เมื่อคำสั่งซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดการส่งมอบอาจจะมีปัญหากรณีที่ผู้นำเข้าดึงเวลาการชำระค่าสินค้าเพื่อรอดูผลการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับสหรัฐ รวมถึงการคำสั่งซื้อสำหรับส่งมอบสินค้าไตรมาสที่ 3 ที่ประเมินได้ลำบากเช่นกันเพราะผู้นำเข้ารออัตราภาษีของแต่ละประเทศว่าเจรจาต่อรองได้มากน้อยเพียงใด และเลือกสั่งซื้อสินค้าจากประเทศที่ได้รับผลกระทบอัตราภาษีไม่มากเพื่อไม่ให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงเกินไป
ในขณะที่สหรัฐเองได้มีการประเมินผลกระทบจากการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าครั้งนี้เช่นกันอาจจะทำให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มสูงขึ้นและมีผลทำให้เกิดปัญหาอัตราเงินเฟ้ออีกครั้ง ซึ่งทำให้ชาวอเมริกันแห่ประท้วงครั้งใหญ่ใน 50 รัฐทั่วประเทศสหรัฐ โดยถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดเพื่อต่อต้านนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐ และออกข้อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดดำเนินการทันที ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาประธานาธิบดีสหรัฐจะอ้างถึงเหตุผลที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศรวมถึงอุตสาหกรรมภายใน
การชุมนุมดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐ แต่มีการชุมนุมในหลายเมืองใหญ่ในบางประเทศ เช่น กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งไม่ว่าการชุมนุมจะทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐเปลี่ยนใจหรือไม่ แต่ แพทองธาร จำเป็นต้องแอกชันให้เร็วกว่านี้ เพราะเมื่อเทียบกับผู้นำหลายประเทศในอาเซียนที่ประกาศแผนรับมือได้เร็ว ในขณะที่ไทยทำงานเรื่องนี้มาแล้ว 3 เดือน แต่การทำงานเป็นไปในแบบตั้งรับจนส่งผลต่อความเชื่อมั่นรัฐบาลว่าจะพาประเทศรอดจากวิกฤตินี้ได้หรือไม่
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 7 เมษายน 2568