การควบรวมจังหวัดและนคร: โอกาสเพื่อขยายพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล
การควบรวมจังหวัดและนครที่มีชายฝั่งกับจังหวัดในเขตลุ่มน้ำไม่เพียงแต่ช่วยแก้ไขอุปสรรค์ในการบริหารจัดการเท่านั้น หากยังอำนวยความสะดวกให้แก่แต่ละภูมิภาคส่งเสริมเอกลักษณ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของตนเอง โดยเฉพาะการขยายพื้นที่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลอีกด้วย
ตามรายงานสถิติ ทุก 1 ตารางกิโลเมตรบนแผ่นดินใหญ่ มีพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลเกือบ 3 ตารางกิโลเมตร ทุก 100 ตารางกิโลเมตรแผ่นดินใหญ่ มีแนวชายฝั่งยาว 1 กม. มีปากแม่น้ำกว่า 114 แห่งไหลลงสู่ทะเลจากแผ่นดินใหญ่ และทุกๆ 20 กม. ของแนวชายฝั่งจะมีปากแม่น้ำขนาดใหญ่ 1 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีเกาะน้อยใหญ่กว่า 3,000 เกาะกระจายในเขตน่านน้ำและหมู่เกาะ 2 แห่งคือหว่างซาและเจื่องซา ประชากรที่อยู่เลียบชายฝั่งทะเลมีเกือบ 50 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 51 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ เอกลักษณ์เหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลที่แข็งแกร่งและยั่งยืน
ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลอย่างยั่งยืนของเวียดนามจนถึงปี 2030 วิสัยทัศน์ถึงปี 2045 ได้ยืนยันถึงสถานะและความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล อีกทั้ง กำหนดภารกิจในการทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่แข็งแกร่งและร่ำรวยจากทะเล ทัศนะและนโยบายนี้ยังคงได้รับการแปรให้เป็นรูปธรรมในการปรับโครงสร้างองค์กรในระบบการเมืองให้กระทัดรัดในปัจจุบัน นักวิจัย ศาสตราจารย์ ดร. หวูมิงยาง ได้นำเสนอมุมมองว่า
“ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดที่มีเอกลักษณ์คล้ายคลึงกันในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่มากและไม่มีทางออกสู่ทะเล ถ้าหากได้ควบรวมกับจังหวัดอื่น การประสานงานทางเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดใหม่นั้นจะเป็นไปอย่างราบรื่น โดยมีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการพัฒนา ทางการสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินและพัฒนาวัฒนธรรมได้”
ฟู้เอียน แค้งหว่าและนิงถ่วนเป็นจังหวัดริมฝั่งทะเลจึงได้กำหนดแผนการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล แต่เมื่อมองจากมุมมองของการดึงดูดการท่องเที่ยวทางทะเลในเวลาที่ผ่านมา นาย เหงวียนเติ๊นต๊วน ประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดแค้งหว่าแสดงความเห็นว่า ทั้งสามจังหวัดนี้ยังไม่ได้ส่งเสริมข้อได้เปรียบที่โดดเด่นอย่างเต็มที่เพื่อสร้างก้าวกระโดด
“ทั้งสามจังหวัดไม่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเองและยังไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวในระดับสูง จังหวัดเหล่านี้ต่างจัดกิจกรรมเดียวกัน ทั้งการแข่งเรือ วินด์เซิร์ฟ และการท่องเที่ยวชายหาด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวชนิดเดียวกันจะกระตุ้นการพัฒนาการท่องเที่ยวได้”
เช่นเดียวกับความเห็นนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. เลชี้กง คณบดีภาควิชาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยญาจางแสดงความเห็นว่า เป้าหมายสูงสุดของการควบรวมจังหวัดและนครคือการสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยสูงสุดให้แก่การเชื่อมโยงระดับภูมิภาคในการพัฒนา ส่งเสริมจุดแข็งของแต่ละภูมิภาคเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์และน่าดึงดูด
“จุดหมายปลายทางมีความคล้ายคลึงกันมาก ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวขาดความแตกต่างและไม่สามารถส่งเสริมความได้เปรียบของแต่ละท้องถิ่นได้ ถ้าหากควบรวมเป็นพื้นที่เดียวกันก็สามารถพัฒนาได้อย่างเข้มแข็ง หลีกเลี่ยงการทับซ้อนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว การเชื่อมโยงเป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สร้างความแข็งแกร่ง และจะช่วยแข่งขันกับจุดหมายปลายทางระดับโลกได้”
ดร.เหงวียนสีหยุง อดีตรองหัวหน้าสำนักงานสภาแห่งชาติได้เผยว่า ทางเลือกในการควบรวมจังหวัดและนครขึ้นอยู่กับหลักการคือ การใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของภูมิภาค การให้ความเคารพคุณค่าหลัก การส่งเสริมการเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ การปรับโครงสร้างองค์กรจังหวัดและนครส่วนกลาง รวมทั้งในระดับท้องถิ่นครั้งนี้เป็นวิธีการเข้าถึงการ “จัดระเบียบพื้นที่ใหม่” เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและยั่งยืนในสภาวการณ์ของการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์หรือ AI นาย เหงวียนสีหยุง แสดงความเห็นว่า
“สัญญาณของยุคสมัยที่ผลักดันให้เราควบรวมท้องถิ่นต่างๆคือยุคเทคโนโลยีและยุคดิจิทัล ในยุคดิจิทัล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราไม่จำเป็นต้องทำงานมากเกินไปหรือแบ่งหน่วยการบริหารมากเกินไป แต่ต้องการแค่ระบบการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น”
ด้วยวิธีการเข้าถึงนี้ แผนการควบรวมจังหวัดและมืองชายฝั่งเข้ากับจังหวัดในเขตลุ่มน้ำจะนำไปสู่ประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลของเวียดนาม การควบรวมนี้จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่อันกว้างใหญ่ในการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค ช่วยให้มีความเป็นเอกภาพในการกำดับดูแลของรัฐต่อจังหวัดชายฝั่งทะเลที่เพิ่งถูกควบรวมเข้าด้วยกัน สร้างพื้นที่ที่เปิดกว้างและดึงดูดการลงทุนให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลให้มากขึ้นในเวลาที่จะถึง
ที่มา vovworld.vn
วันที่ 8 เมษายน 2568