ตลาดหุ้นถล่มทั่วโลก สัญญาณอันตราย "ศก.ถดถอย"
โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา สร้างปรากฏการณ์ตื่นตะลึงระดับโลกออกมาให้เห็นกันในวันที่ 2 เมษายน 2025 ที่ผ่านมา ด้วยการประกาศกำแพงภาษีใหม่ที่สหรัฐอเมริกาจะจัดเก็บสำหรับสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา แยกเป็นอัตราภาษี 10% เป็นพื้นฐานสำหรับทุกประเทศ
บวกเพิ่มด้วยอัตราภาษีพิเศษเป็นการตอบโต้ ที่บางคนเรียกว่าภาษีต่างตอบแทน สำหรับประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าเหนือสหรัฐอเมริกาอีกราว 60 ประเทศ มากน้อยแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับขนาดของการได้เปรียบดุลการค้าของแต่ละประเทศเหล่านั้น เริ่มตั้งแต่ 10% เรื่อยไปจนถึง 49-50% ประหนึ่งเป็นการประกาศสงครามการค้ากับทั้งโลกเลยทีเดียว
ขอบเขตและความหนักหน่วงของสงครามการค้าครั้งนี้ ไม่เพียงทำให้บรรดาผู้นำ ผู้กำหนดนโยบายของทุกประเทศแตกตื่นเท่านั้น ยังส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก เซอร์ไพรส์ได้พอ ๆ กัน ปฏิกิริยาของตลาดที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ปรากฏการณ์เทขายที่เกิดขึ้นกระหน่ำจนกลายเป็นการถล่มทลายทั่วโลก
รวมทั้งตลาดสหรัฐอเมริกา ดัชนีรัสเซล 3000 มาตรวัดสำหรับตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ถล่มลงทันทีในวันที่ 3 เมษายน ถึง 5% จากนั้นก็ถล่มต่ออีกครั้งในวันที่ 4 เมษายน อีก 6% ตอบรับกับการประกาศการขึ้นภาษีตอบโต้ของทางการจีน รวมมูลค่าตลาดที่หายไปไม่น้อยกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์
ประเด็นที่ชวนให้วิตกในปรากฏการณ์ถล่มทลายครั้งนี้ก็คือ นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับสินทรัพย์แทบทุกอย่าง ซึ่งสะท้อนนัยให้เห็นว่า บรรดานักลงทุนพากันคาดการณ์ถึงสถานการณ์ชะลอตัวทางเศรษฐกิจระดับรุนแรง ทองคำที่ในตอนแรกพุ่งสูงขึ้นทำสถิติ กลับย่อตัวลงมาในระยะหลังนี้ ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง ทั้งสองอย่างเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับที่เคยเป็นเมื่อเกิดภาวะยุ่งยาก
ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่น้ำมันดิบยังถูกเทขายออกมา ราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนต์ร่วงลงทันทีจาก 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 66 ดอลลาร์ ทำนองเดียวกันกับราคาทองแดงในตลาดโลก ในหลายประเทศ หุ้นธนาคารรูดลงติดพื้น ส่อนัยในทางลบ เพราะสถาบันการเงินผูกพันเป็นพิเศษกับวัฏจักรทางเศรษฐกิจ บรรดานักวิเคราะห์ของธนาคารชื่อดังทั้งหลายพากันยกระดับประมาณการความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นในปีนี้ อาทิ เจพีมอร์แกน เชส ที่ระบุไว้ว่า มีโอกาสที่จะเป็นไปได้สูงถึง 60%
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ยังมีวิธีการตรวจสอบสิ่งที่บรรดานักลงทุนสะท้อนออกมาผ่านตลาดหุ้นที่แม่นยำกว่าภาพรวมคร่าว ๆ ข้างต้น คือการเปรียบเทียบราคาของหุ้นในกลุ่ม “ดีเฟนซีฟ” กับหุ้นในกลุ่ม “ไซคลิคอล” หุ้นในกลุ่มดีเฟนซีฟ คือหุ้นของบริษัทที่มีกิจการเกี่ยวข้องกับการบริโภคและอุปโภค อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น หุ้นในกลุ่มนี้มักไม่เชื่อมโยงกับวัฏจักรขึ้นและลงทางเศรษฐกิจนัก เพราะล้วนเป็นสิ่งท้ายสุดที่ผู้บริโภคทั้งหลายจะตัดทิ้ง
ตรงกันข้าม หุ้นในกลุ่มไซคลิคอล อาทิ สายการบิน หรือผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งมักถูกเทขายเป็นลำดับแรก ๆ การเปรียบเทียบหุ้นทั้งสองกลุ่มของตลาดสหรัฐอเมริกาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า หุ้นในกลุ่มไซคลิคอลร่วงลงมามากกว่าหุ้นในกลุ่มดีเฟนซีฟ ช่วงห่างสูงถึง 8 เปอร์เซ็นเทจพอยต์ ซึ่งนับว่ากว้างที่สุดนับตั้งแต่มีการล็อกดาวน์ในช่วงการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2020 และสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของระดับราคาในช่วงที่เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจขึ้นทั่วโลกในระดับที่ไม่รุนแรงนัก
เมื่อตรวจสอบเปรียบเทียบกันแล้ว ความเคลื่อนไหวของระดับราคาดังกล่าวในตลาดสหรัฐอเมริกาถือว่าหนักหน่วงที่สุด รุนแรงกว่าที่อื่น แต่ก็ไม่มากมายนัก โดยเฉพาะในกรณีของตลาดกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่และญี่ปุ่น ที่แม้จะไม่หนักเท่า แต่ก็อยู่ในระดับใกล้เคียง
ส่วนในยุโรป แทบจะเลวร้ายพอ ๆ กันกับของตลาดสหรัฐอเมริกา สอดคล้องกับข้อมูลเชิงวิชาการที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้าทรัมป์จะประกาศสงครามการค้าครั้งนี้ที่ระบุว่า การตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา จะส่งผลให้เกิด “ความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจ” นอกประเทศมากพอ ๆ กัน หรือมากกว่าความเจ็บปวดภายในประเทศที่คนอเมริกันจะได้รับ
ในทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญซึ่งต้องถือเป็นข่าวดีก็คือ โลกเผชิญหน้ากับกำแพงภาษีของทรัมป์ ในขณะที่สภาวะทางเศรษฐกิจจัดอยู่ในระดับแข็งแกร่ง มาตรวัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของโลกในเดือนมีนาคม เพิ่มสูงขึ้นจากที่วัดได้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วยซ้ำไป มาตรวัดดังกล่าวนี้ซึ่งได้จากการสำรวจดัชนีพีเอ็มไอ ยังบ่งชี้ให้เห็นถึงความแข็งแรงเป็นพิเศษในภาคบริการ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากประกาศภาษีของทรัมป์
นอกจากมาตรวัดดังกล่าวแล้วยังมีดัชนีชี้วัดกิจกรรม ที่จัดทำโดยโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรเป็นอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น อัตราว่างงานในกลุ่มประเทศมั่งคั่งของโลกอย่างกลุ่มประเทศโออีซีดี ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 5%
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ดัชนีของโกลด์แมน แซคส์ ดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐอเมริกา ยิ่งแข็งแกร่งกว่าบรรดาประเทศมั่งคั่งอื่น ๆ ด้วยซ้ำไป สะท้อนออกมาให้เห็นจากตัวเลขการจ้างงานล่าสุดที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 4 เมษายน ที่แสดงให้เห็นว่ามีการจ้างงานในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 228,000 ตำแหน่ง ขณะที่ดัชนีรายสัปดาห์ที่เฟด หรือธนาคารกลางของสหรัฐ สาขาดัลลัส จัดทำขึ้นก็แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจอเมริกันจะขยายตัวกว่า 2% ในปีนี้
ตัวเลขเหล่านั้นเพียงแค่แสดงให้เห็นว่า ประธานาธิบดีอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ที่นักวิชาการหลายคนระบุว่า กำลังทำ “อัตวินิบาตกรรมทางเศรษฐกิจ” อยู่ในเวลานี้ โชคดีเพียงใดที่ได้รับสืบทอดมรดกทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมาจากอดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะโชคดีเพียงใด หากทุบทำลายอย่างบ้าคลั่ง ไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่ยับยั้งชั่งใจ แข็งแกร่งแค่ไหนก็รอเวลาพังทลายเท่านั้นเอง
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 9 เมษายน 2568