ทรัมป์ถูกใจสิ่งนี้ "One Stop Shopping" กลยุทธ์เกาหลีใต้ เอาตัวรอดจากศึกภาษี
ทรัมป์ถูกใจสิ่งนี้ "เจรจาแบบ One Stop Shopping" กลยุทธ์เกาหลีใต้เอาตัวรอดจากมหาโหมดยุทธศาสตร์ภาษีตอบโต้ มุ่งดีลการค้า-พลังงาน-ความมั่นคงที่สหรัฐฯ ยังต้องฟัง
เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในต้นปี 2025 พร้อมรื้อยุทธศาสตร์ภาษีแบบ "Reciprocal Tariffs" อีกครั้ง หนึ่งในประเทศพันธมิตรที่เผชิญแรงสั่นสะเทือนหนักคือ "เกาหลีใต้" ที่ถูกตั้งเป้าขึ้นภาษีนำเข้าสูงถึง 25% ท่ามกลางดุลการค้าที่เกาหลีใต้ได้เปรียบสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นถึง 25% ในปี 2024 เป็นราว 55.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่แทนที่จะตอบโต้ด้วยท่าทีแข็งกร้าว หรือจับมือกับประเทศคู่แข่งของสหรัฐฯ เพื่อกดดันร่วม เกาหลีใต้เลือกเส้นทาง "เจรจา" และ "เชิงยุทธศาสตร์" อย่างสุขุมรอบคอบ และนี่คือกลยุทธ์ที่โซลใช้ เพื่อเอาตัวรอดจากสงครามภาษีครั้งใหม่นี้
บทสนทนากู้วิกฤต ที่มาพร้อมจังหวะและสาระ
เวลา 9:03 - 9:31 น. ของคืนวันอังคารที่ผ่านมา (ตามเวลาเกาหลี) ผู้นำรักษาการของเกาหลีใต้ ฮัน ด็อกซู ได้โทรศัพท์พูดคุยกับทรัมป์ ก่อนที่ภาษีใหม่จะมีผลบังคับเพียง 16 ชั่วโมง เป็นการสื่อสารระดับผู้นำครั้งแรกในรอบ 5 เดือน นับจากอดีตประธานาธิบดียุน ซอกยอล ถูกถอดถอนจากปัญหาประกาศกฎอัยการศึก
โทรศัพท์ 28 นาทีนี้เต็มไปด้วยคำหลักสำคัญ "ดุลการค้า", "ต่อเรือ", "LNG", "โครงการท่อส่งก๊าซอลาสกา", และ "ค่าใช้จ่ายการป้องกันประเทศ" ซึ่งสื่อสารออกไปถึงเจตจำนงของเกาหลีใต้ที่พร้อมจะ “ประนีประนอม” ในหลายมิติ เพื่อลดแรงกระแทกจากภาษี และรักษาสัมพันธภาพกับสหรัฐ
กลยุทธ์ "One Stop Shopping" รวมทุกดีลไว้ในโต๊ะเดียว :
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในการเจรจาครั้งนี้คือแนวคิด "One Stop Shopping" ที่ทรัมป์ย้ำซ้ำผ่านโพสต์ Truth Social ว่า "สวยงามและมีประสิทธิภาพ" ซึ่งหมายถึงการเจรจาแบบบูรณาการ ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ใช่แค่ภาษีเท่านั้น แต่รวมถึงความมั่นคง การพลังงาน และโครงการลงทุนข้ามชาติ
ฝ่ายเกาหลีใต้เองก็ไม่อยู่เฉย รัฐมนตรีพาณิชย์ ชอง อินคโย บินด่วนสู่วอชิงตันทันที พร้อมเสนอ "แพ็คเกจดีลใหญ่" ที่รวมข้อเสนอเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) จากสหรัฐฯ, ร่วมลงทุนในโครงการ Alaska LNG มูลค่า 44 พันล้านดอลลาร์, เปิดความร่วมมือด้านต่อเรือ และการพูดคุยเรื่องส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายทหารสหรัฐฯ ที่ประจำการในเกาหลีใต้
ไม่ต่อกร แต่ก็ไม่อ่อนข้อ :
แม้จะเลือกเส้นทางการเจรจาอย่างชัดเจน แต่เกาหลีใต้ก็วางจุดยืนไว้อย่างแน่นหนา ในการให้สัมภาษณ์กับ CNN ฮัน ด็อกซู ยืนยันว่า "เกาหลีใต้จะไม่จับมือกับจีนหรือญี่ปุ่นเพื่อต่อต้านสหรัฐฯ" แม้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ 3 ชาติที่โซลก่อนหน้านี้ โดยย้ำว่าการประชุมนั้นเป็นเพียงเรื่อง "ตามปกติ" ไม่ใช่การสร้างพันธมิตรการเมือง
ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้เลือกไม่ตอบโต้แบบ "ตาต่อตา" ด้วยการตั้งกำแพงภาษีสวน เพราะมองว่าเป็นการทำร้ายตนเอง และอาจยิ่งทำลายความเชื่อมั่นต่อตลาดการเงินภายในประเทศ ซึ่งในเวลานั้นตลาดหุ้นเกาหลีใต้ก็ร่วงถึง 20% จากจุดสูงสุดกลางปี และค่าเงินวอนแตะจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงิน
บทเรียนจากโซล สู่โลกที่ทรัมป์เป็นศูนย์กลาง :
ในยุคที่โดนัลด์ ทรัมป์กลับมากุมเกมการค้าระดับโลก พร้อมนโยบายกดดันประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้า หลายประเทศเลือกตอบโต้ด้วยมาตรการแข็งกร้าวหรือเจรจาแบบแยกส่วน แต่เกาหลีใต้เสนอแนวทางใหม่ ผสานการเจรจาหลายมิติผ่านโต๊ะเดียว
การวางน้ำหนักดีลในประเด็นที่ "ทรัมป์ให้ความสำคัญ" เช่น LNG, โครงการพลังงาน, และค่าใช้จ่ายทางทหาร ช่วยเปลี่ยนจุดสนใจจาก "ดุลการค้า" ที่เป็นข้อด้อยของเกาหลีใต้ ไปสู่ "ผลประโยชน์ร่วม" ที่สหรัฐฯ ไม่อาจมองข้าม
แม้ดีลสุดท้ายจะยังไม่คลอด แต่เกาหลีใต้ก็ประสบความสำเร็จในขั้นแรก "ได้เวลาซื้อเวลา" หยุดเลือดไหลจากภาษีทันที และเปิดทางสู่การเจรจาที่อาจพลิกวิกฤตเป็นโอกาส
บทเรียนสำคัญจากเกาหลีใต้คือ ในโลกที่สหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์ใช้การค้าเป็นเครื่องต่อรองทางยุทธศาสตร์ การเตรียมข้อเสนอเชิงสร้างสรรค์ การรู้จักเจรจาเชิงรุก และการนำเสนอ .ทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย. คือกุญแจที่ทำให้ประเทศเล็กสามารถรับมือกับยักษ์ใหญ่ได้ และอาจได้ประโยชน์กลับมามากกว่าที่คิด
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 10 เมษายน 2568