หมัดภาษีทรัมป์ สะเทือน "เศรษฐกิจสร้างสรรค์โลก" | Creative Economy
ส่องผลกระทบนโยบายภาษีทรัมป์ที่มีต่ออุตสาหกรรม "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ทั่วโลก "วงการโฆษณา" เจองานหนัก เมื่อราคาสินค้าขยับ งบโฆษณาจึงถูกตัดออกเป็นอันดับแรก
แม้ว่าสหรัฐจะประกาศผ่อนปรนภาษี 90 วันให้ทั่วโลกไปแล้วสดๆ ร้อนๆ แต่บรรยากาศความไม่แน่นอนก็ยังปกคลุมไปทั่วโลก รวมไปถึง ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั่วโลก’ ที่กำลังเผชิญความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในช่วงหลายสิบปีมานี้
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วงสั่นคลอนอีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้นโยบายภาษีนำเข้าฉบับใหม่ โดยกำหนดอัตราขั้นต่ำที่ 10% สำหรับสินค้าจากทุกประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยไทยจะถูกเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 36% ภายใต้นโยบายที่มุ่งหวังจะฟื้นฟูภาคการผลิตภายในประเทศ และลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างชาติ

ทว่าผลสะเทือนของมาตรการนี้กลับแผ่ขยายไปไกลกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิด โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ไม่ว่าจะเป็นในวงการโฆษณา แฟชั่น หรือศิลปะ ต่างเริ่มสัมผัสได้ถึงแรงกระเพื่อมของมาตรการนี้อย่างชัดเจน
หนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบก่อนใครคือ "วงการโฆษณา" เพราะเมื่อภาษีนำเข้าพุ่งสูงขึ้น ราคาสินค้าก็ขยับตามแบบเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มรัดเข็มขัด และใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งแรกที่มักถูกตัดออกจากแผนของบริษัทก็คือ "งบสื่อสารการตลาด" ไม่ว่าจะเป็นค่าโฆษณา การประชาสัมพันธ์ หรือการสร้างแบรนด์
นักการตลาดจึงต้องรีเซ็ตวิธีคิดใหม่ จากที่เคยมุ่งเน้นยอดขายหรือโปรโมชัน ต้องหันมาให้ความสำคัญกับ “ความหมายของแบรนด์” และ “ความเชื่อมโยงทางอารมณ์” กับผู้บริโภคให้มากขึ้น เพราะในยุคที่ทุกการใช้จ่ายถูกชั่งน้ำหนักด้วยความรู้สึกและเหตุผล แบรนด์ที่สร้างความไว้วางใจและสะท้อนคุณค่าได้เท่านั้น ที่จะยืนอยู่ในใจผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืน
ด้าน "อุตสาหกรรมแฟชั่น" โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่นหรูที่พึ่งพาตลาดสหรัฐอย่างมาก ก็เริ่มเผชิญแรงต้านจากภาษีนำเข้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้แบรนด์หรูจะมีความสามารถในการผลักภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภค และกลุ่มลูกค้าก็ยังเป็นคนที่มีกำลังซื้อสูง แต่ความท้าทายไม่ได้อยู่แค่ที่ตัวเลขต้นทุน หากแต่อยู่ที่ความรู้สึกของผู้ซื้อ
เพราะช่วงหลังผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับราคาที่สูงเกินจริง ปรากฏการณ์ที่ถูกเรียกว่า “Greedflation” หรือการขึ้นราคาโดยไม่สะท้อนต้นทุนจริง กลายเป็นแรงสะท้อนกลับที่ทำให้ผู้บริโภคเริ่มลังเลต่อการจับจ่ายสินค้าหรู และเมื่อรวมกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับแบรนด์ที่กำลังขยายฐานในเมืองรองของอเมริกาให้ต้องชะลอแผนหรือทบทวนกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน "ตลาดศิลปะ" ที่มักพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอย่างสูง ทั้งในแง่การซื้อขาย การขนส่ง และการจัดแสดงในเวทีระดับโลก ก็กำลังเผชิญแรงสะเทือนอย่างหนักจากความไม่แน่นอนของภาษีศุลกากรที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
แกลเลอรีและนักสะสมจากแคนาดา เม็กซิโก หรือจีน ต่างต้องชะลอหรือปรับแผนการจัดส่งงานศิลป์เข้าสหรัฐ เพราะไม่สามารถคาดการณ์ต้นทุนที่แท้จริงได้ อีกทั้งต้นทุนแฝงอย่างค่าบรรจุภัณฑ์ ไม้ หรือวัสดุติดตั้งงานศิลป์ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ศิลปินและผู้ประกอบการในวงการนี้ต้องเร่งหาทางปรับตัวเพื่อไม่ให้ต้นทุนฉุดโอกาสทางศิลปะและรายได้
ในมุมของ "ไทย" ผลกระทบจากนโยบายนี้ก็น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะในปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ไปยังสหรัฐด้วยมูลค่ารวมหลักหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าหลักอย่างอัญมณี เครื่องหนัง และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะถูกกระทบจากภาษีนำเข้าโดยตรง ไม่เพียงแต่มีบทบาทด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นสินค้าที่สะท้อนรากวัฒนธรรมไทยในตลาดโลก
หากสหรัฐขึ้นภาษีในกลุ่มนี้อย่างจริงจัง ผู้ผลิตไทยอาจต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น การแข่งขันที่ยากขึ้น และอาจเสียพื้นที่ตลาดให้กับประเทศอื่นที่มีข้อได้เปรียบด้านภาษี
ในยุคที่ความไม่แน่นอนกลายเป็นเรื่องปกติ ผู้ประกอบการทั่วโลกไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต่างต้องเร่งปรับตัวอย่างสร้างสรรค์ ความสามารถในการอ่านเกมเศรษฐกิจ และออกแบบกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่นอาจเป็นสิ่งที่แยก “ผู้รอด” ออกจาก “ผู้หลุดจากตลาด” ไปอย่างถาวร เพราะในสนามที่กติกาเปลี่ยนเร็วแบบนี้ ไม่มีใครได้เปรียบถ้าไม่พร้อมเปลี่ยนตาม
โดย อินทรพิทักษ์ เจริญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารองค์ความรู้และระบบข้อมูล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 10 เมษายน 2568