"หยวนดิจิทัล" เปลี่ยนโลก! ท้าทายดอลลาร์ เชื่อม 10 ประเทศอาเซียน
ระบบการเงินโลกเข้าสู่จุดเปลี่ยน เมื่อจีนประกาศเชื่อมโยง "หยวนดิจิทัล" กับ 10 ประเทศอาเซียน และ 6 ประเทศตะวันออกกลาง ด้วยความเร็วธุรกรรมที่เหนือกว่า ค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าระบบ SWIFT
ระบบการเงินระหว่างประเทศเข้าสู่จุดเปลี่ยน เมื่อธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้ประกาศว่า ระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนของ “หยวนดิจิทัล” จะเชื่อมต่อกับ “10 ประเทศในอาเซียน” และ “6 ประเทศในตะวันออกกลาง” ซึ่งหมายความว่า ประมาณ 38% ของการค้าระหว่างประเทศ อาจสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ดอลลาร์ในระบบ SWIFT ที่ครองตลาด
ในขณะที่ SWIFT ใข้เวลาทำธุรกรรม “3-5 วัน” และมีตัวกลางหลายฝ่าย แต่หยวนดิจิทัลของจีน ถูกออกแบบมาเพื่อลดระยะเวลาในการทำธุรกรรมให้เหลือเพียง “ไม่กี่วินาที” โดยโครงการนำร่องระหว่างฮ่องกงและอาบูดาบี ทำให้การชำระเงินเสร็จสิ้นในเวลาเพียงราว “7 วินาที” โดยมีค่าธรรมเนียมลดลงถึง 98%
นอกจากความเร็วแล้ว โครงสร้างบล็อกเชนของหยวนดิจิทัลที่รักษา “ความสามารถในการติดตามธุรกรรมได้” ช่วยต่อต้านการฟอกเงินโดยอัตโนมัติ ลดความเสี่ยงจากการฉ้อโกง
ในขณะเดียวกัน กรณีทดสอบอีกครั้งระหว่างจีนและอินโดนีเซีย การชำระเงินข้ามพรมแดนเสร็จสิ้นภายใน 8 วินาที ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นกว่าวิธีการแบบดั้งเดิมมาก ความมีประสิทธิภาพนี้ได้ดึงดูดธนาคารกลาง 23 แห่งให้เข้าร่วมทดสอบการเชื่อมต่อ โดยผู้ค้าพลังงานในตะวันออกกลางรายงานว่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการชำระเงินถึง 75%
ในระหว่างที่สหรัฐใช้ระบบ SWIFT เป็นเครื่องมือคว่ำบาตรต่อรัสเซีย อิหร่าน และประเทศอื่นๆ จีนได้ดำเนินการอย่างรอบคอบในการสร้างระบบการชำระเงินใหม่นี้ ซึ่งการค้าภายใต้เงินหยวนของอาเซียน พุ่งสูงถึง 5.8 ล้านล้านหยวนในปี 2024 โดยมาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ได้เพิ่มเงินสกุลนี้เข้าสู่ทุนสำรองระหว่างประเทศของพวกเขา
ไม่เพียงเท่านั้น การทำธุรกรรม “ซื้อขายน้ำมันด้วยเงินหยวนดิจิทัล” ครั้งแรกของประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวความสำเร็จของระบบนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเสื่อมถอยของการครองตลาดดอลลาร์อย่างเงียบๆ
นอกจากนี้ เงินหยวนดิจิทัลได้ถูกนำมาใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น รถไฟจีน-ลาว และรถไฟความเร็วสูงจากจาการ์ตาไปบันดุง ซึ่งสร้าง “เส้นทางสายไหมดิจิทัล” ที่เชื่อมโยงการไหลของสกุลเงินกับเส้นทางการค้า จนท้าทายต่ออำนาจการเงินของตะวันตก
ในขณะนี้ 87% ของประเทศทั่วโลกสามารถใช้งานเงินหยวนดิจิทัลได้ และปริมาณการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนได้พุ่งเกิน 1.2 ล้านล้านดอลลาร์
ระบบหยวนนี้เป็น “จุดเปลี่ยน” ในระบบการเงินระหว่างประเทศ โดยประสิทธิภาพของบล็อกเชน จะท้าทายกลไกที่ช้า และมีค่าใช้จ่ายสูงของธนาคารแบบดั้งเดิม และยังท้าทายอำนาจของ SWIFT และการครองตลาดของดอลลาร์
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 10 เมษายน 2568