อเมริกัน 73% กังวล "ราคาสินค้าพุ่ง" เริ่ม "ตุนอาหาร-ของจำเป็น"
อเมริกันส่วนใหญ่กังวลราคาสินค้าอาจพุ่งสูงขึ้น เมื่อได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์ ผู้คนบางส่วนเริ่มตุนอาหารและของใช้จำเป็น ขณะที่บางคนยังคงมองว่าสินค้าจีนคือทางเลือกที่ดีเพราะมีราคาถูก
ผลสำรวจของรอยเตอร์ส/อิปซอส พบ ชาวอเมริกันส่วนใหญ่กำลังเตรียมรับมือกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายประเภทที่อาจสูงขึ้น หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้ากับประเทศหลายประเทศทั่วโลก
ผลสำรวจ 3 วันจนถึงวันอาทิตย์ (6 เม.ย.) พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 73% คาดว่า ราคาสินค้าที่พวกเขาซื้อในทุกๆ วัน จะเพิ่มขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า หลังจากมาตรการภาษีใหม่มีผลบังคับใช้ต่อสินค้านำเข้าทั้งหมด
มีเพียงผู้ตอบแบบสอบถาม 4% เท่านั้นที่คิดว่าราคาสินค้าจะลดลง และผู้ตอบแบบสอบถามที่เหลือคาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่แสดงความคิดเห็น
นอกจากนี้ ผลสำรวจพบด้วยว่า 57% ของผู้ตอบแบบสอบถาม รวมถึงผู้ที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันของทรัมป์ราว 1 ใน 4 คัดค้านมาตรการภาษีใหม่ รวมถึงการขึ้นภาษีอย่างน้อย 10% ต่อสินค้านำเข้าในทุกประเทศ
ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถาม 39% สนับสนุนมาตรการภาษีดังกล่าว และ 52% เห็นด้วยที่รัฐบาลทรัมป์มองว่าประเทศอื่นเอาเปรียบสหรัฐในด้านการค้าระหว่างประเทศ
คนอเมริกันส่วนใหญ่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับมาตรการภาษีที่สูงขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามราว 50% รวมถึงคนที่ชื่นชอบพรรครีพับลิกันบอกว่า พวกเขาเห็นด้วยกับแถลงที่ว่า ความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจในระยะสั้นนั้นคุ้มค่าที่จะทำให้สหรัฐแข็งแกร่งมากขึ้นในระยะยาว
ขณะที่อีก 50% รวมถึงกลุ่มคนที่ชอบพรรคเดโมแครตไม่เห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าว
ทั้งนี้ ผลสำรวจรอยเตอร์ส/อิปซอส เก็บข้อมูลจากทั้งออนไลน์และทั่วประเทศ สำรวจผู้ใหญ่อเมริกัน 1,027 คน และข้อมูลมีความคลาดเคลื่อนประมาณ 3%
อเมริกันเริ่มตุนอาหาร :
ผู้บริโภคบางส่วนในสหรัฐกังวลสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้นและเริ่มกักตุนอาหารและของจำเป็นบางส่วนแล้ว
โทมัส เจนนิงส์ ชาวอเมริกันวัย 53 ปี ชอปปิงในห้างสรรพสินค้าวอลมาร์ท ในรถเข็นเต็มไปด้วยน้ำผลไม้ เครื่องปรุงรสและสารพัดสิ่งที่เขาจะนึกได้
“ผมซื้อของเป็นสองเท่า ไม่ว่าจะเป็นถั่ว อาหารกระป๋อง แป้ง อะไรก็ตาม” เจนนิงส์ กล่าว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อตุนอาหารเท่าที่ทำได้ก่อนที่มาตรการภาษีล่าสุดของทรัมป์จะมีผลกระทบถึงสินค้าเหล่านี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ เจนนิงส์ได้ไปชอปปิงที่คอสต์โค ซื้อพวกแป้ง น้ำตาล และน้ำจำนวนมากอีกด้วย
“ภาวะถดถอยกำลังมา และผมกำลังเตรียมพร้อมรับกรณีที่เลวร้ายที่สุด”
เช่นเดียวกับนักชอปชาวอเมริกันคนอื่นๆ เจนนิงส์เชื่อว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะสูงขึ้นเพราะมาตรการภาษีของทรัมป์
มูลนิธิภาษีกลุ่มวิจัยที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและไม่แสวงหากำไร เผยว่า มาตรการภาษีใหม่จะทำให้ชาวอเมริกันมีค่าใช้จ่าย 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า เท่ากับการเพิ่มภาษีประมาณ 2,100 ดอลลาร์ต่อครัวเรือนในปี 2025 เพียงปีเดียว
ความกังวลเริ่มคุกรุ่น :
แม้ใครหลายคนยังคงรอดูผลกระทบของมาตรการภาษีอยู่ แต่บางคนก็กังวลว่า ความตื่นตระหนกจะทำให้เกิดการตุนสินค้าเพิ่มมากขึ้น และทำให้เงินเฟ้อเลวร้ายลงไปอีก
มานิช คาปูร์ ผู้ก่อตั้ง GCG ธุรกิจจัดการซัพพลายเชนนอกลอสแอนเจลิส กล่าวว่า ภาษีทำให้ผู้คนกังวลว่าร้านค้าจะไม่มีของมาวางขาย ผู้คนจะกักตุนอาหารและสิ่งของจำเป็น ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 และเมื่อซัพพลายหยุดชะงัก จะทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารและเงินเฟ้อตามมา
“มันยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ผู้คนกังวลว่าราคาสินค้ากำลังเพิ่มขึ้น และจะเกิดการกักตุน” คาปูร์เตือน
ด้านวอลมาร์ท (Walmart) และคอสต์โค (Costco) ยังไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ
แองเจโล แบร์ริโอ ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มวัยเกษียณ 55 ปี บอกว่า มาตรการของทรัมป์ที่ทำให้เกิดความสับสนและปั่นป่วนทำให้เขาและเพื่อนๆ กังวลเกี่ยวกับทิศทางของเศรษฐกิจ
แบร์ริโอเริ่มซื้อสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษานานเพราะกังวลว่าผู้ค้าปลีกอาจผลักภาระภาษีมายังผู้บริโภค และสัปดาห์นี้เขาไปชอปปิงที่คอสต์โค ตุนยาสีฟัน สบู่ น้ำ และข้าว ซึ่งจะนำไปเก็บไว้กับอาหารกระป๋องที่เก็บไว้ในห้องใต้ดินควบคุมอุณหภูมิ นอกจากนี้เขายังไปชอปปิงที่วอลมาร์ท ตุนน้ำมันปาล์มอีก 2 ขวด จนตอนนี้เขามีน้ำมันปาล์มแล้ว 20 ขวด
“คุณไม่มีทางมั่นใจได้ว่าต้องใช้เท่าไหร่”
สินค้าจีนคือทางเลือกสำคัญ :
สำหรับมาตรการภาษีที่สหรัฐเรียกเก็บจากจีนเพิ่ม 50% เนื่องจากจีนไม่ยอมยกเลิกภาษีตอบโต้ 34% แบร์ริโอกลับเห็นใจ
“พวกเขาถูกลงโทษโดยที่ไม่ได้เป็นความผิดของพวกเขา” เขากล่าว “ผมมีความสุขเสมอที่พวกเขาสามารถจัดหาสิ่งของราคาถูกให้เราได้”
แม็กกี คอลลินส์ ชาวอเมริกันวัย 60 กว่า บอกว่า เธอรู้สึกกังวลมากเรื่องภาษีของทรัมป์ และผลกระทบต่อผู้สูงอายุ
คอลลินส์ซื้อของใช้หลายอย่างในวอลมาร์ท เมืองนอร์ทเบอร์เกน รัฐนิวเจอร์ซีย์ ทั้งครีมอาบน้ำ และผ้าอนามัย โดยเน้นแบรนด์วอลมาร์ทเพราะมีราคาถูกกว่าแบรนด์ Procter & Gamble และ Unilever
“ฉันเช็กดูราคาทุกอย่าง เพราะฉันอยู่อย่างมีรายได้จำกัด” คอลลินส์ ผู้ช่วยด้านสุขภาพในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุกล่าว “ซื้อของแพงอย่างใดอย่างหนึ่ง งบประมาณบางส่วนก็ต้องถูกปรับไปด้วย”
เมื่อไม่นานมานี้ คอลลินส์ไปร้าน Shoprite เพื่อซื้อเนื้อสัตว์ไปทำอาหารให้หลานๆ แต่เนื้อสัตว์ที่เธอต้องการ 3 ปอนด์ มีราคาอยู่ที่ 16 ดอลลาร์ (ราว 552 บาท) เธอจึงต้องซื้อเนื้อแบบอื่นแทนในราคาเพียง 8 ดอลลาร์ (ราว 276 บาท) และเธอสงสัยว่าคนรุ่นใหม่จะรับมือได้อย่างไร
"พวกเขาต้องอยู่ในโลกที่การเอาชีวิตรอดกลายเป็นเรื่องยาก”
ขณะที่ภาคธุรกิจสัมผัสได้ว่าผู้คนในสหรัฐกังวลเรื่องมาตรการภาษีใหม่ของทรัมป์ แต่ยังคงมองในแง่บวก
นิก ชื่นจิต ผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไปของ Valley Subaru เมืองลองเมาท์ รัฐโคโลราโด บอกว่า ลูกค้าพูดคุยเรื่องภาษี และถามคำถามพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้
“ผมคิดว่าลูกค้าของเรากำลังวางแผนซื้อรถสักคันเร็วนี้ๆ มากกว่าซื้อทีหลัง เพราะเรื่องภาษี”
อย่างไรก็ตาม ชื่นจิตยังคงมองในแง่บวกหลังจากเคยเผชิญยอดขายรถยนต์ตกต่ำในปี 2008 และในช่วงแพร่ระบาดโควิด
“ธุรกิจนี้ยืดหยุ่น ยอดขายรถยนต์มีมาตลอด ผู้คนจะซื้อรถ แม้มีภาษี มันก็แค่ทำให้ค่าใช้จ่ายผู้บริโภคเพิ่มขึ้น”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 10 เมษายน 2568