ไทยควรเร่งกำกับดูแล อีคอมเมิร์ซ รับมือสินค้าทะลัก หลังสงครามการค้าปะทุรอบใหม่
ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งปะทุขึ้นอีกครั้งหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125%
ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ของอาเซียนกำลังเผชิญความเสี่ยงใหม่ ที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซภายในประเทศ จะกลายเป็นช่องทางหลักในการระบายสินค้าจากจีนและประเทศอื่น ที่ต้องการหลบหลีกกำแพงภาษีของสหรัฐ
ขณะที่ประเทศไทยได้รับข้อยกเว้นในระยะสั้น โดยสหรัฐประกาศพักการขึ้นภาษีสำหรับประเทศที่ไม่ตอบโต้เป็นเวลา 90 วัน และตั้งอัตราภาษีพื้นฐานที่ 10%
แต่ข้อยกเว้นนี้อาจเปิดประตูให้สินค้าราคาถูกจากจีนไหลทะลักเข้าสู่ตลาดไทยผ่านช่องทางออนไลน์ และผ่านผู้ประกอบการรายย่อยข้ามแดนที่มีต้นทุนการทำตลาดต่ำ
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลไทยจึงต้องเร่งวางมาตรการควบคุมและติดตามแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างรัดกุม ทั้งในเชิงก่อนเกิดเหตุ (Ex-ante) และหลังเกิดเหตุ (Ex-post) เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ ผู้บริโภค และผู้ประกอบการท้องถิ่น
กรมศุลกากรควรเชื่อมโยงข้อมูลกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อสกัดกั้นสินค้าที่มีพฤติกรรมการนำเข้าที่ผิดปกติ เช่น ปริมาณนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลันจากประเทศที่กำลังมีความตึงเครียดทางการค้า
และควรบังคับให้ผู้ขายในแพลตฟอร์มต้องระบุแหล่งผลิตและใบรับรองมาตรฐานอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องสำอาง อาหารเสริม และของเล่นเด็ก
รัฐควรปรับกฎหมายให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสินค้าเถื่อน สินค้าไม่ได้มาตรฐาน หรือสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่จำหน่ายบนระบบของตน ไม่ใช่เพียงแค่ “ตัวกลาง”
และควรมีความร่วมมือกับประเทศในอาเซียนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้า เนื่องจากสินค้าอาจเปลี่ยนเส้นทางผ่านประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ก่อนส่งเข้าประเทศไทย
หน่วยงานรัฐต้องเพิ่มการสุ่มตรวจสินค้าในคลังของแพลตฟอร์ม และดำเนินการตรวจสอบย้อนหลังกับสินค้าที่มีพฤติกรรมผิดปกติ
กระทรวงพาณิชย์ควรร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ และ สคบ. จัดตั้งหน่วยงานตอบสนองฉุกเฉินเมื่อพบสินค้าอันตรายหรือโฆษณาเกินจริง เช่น ออกคำสั่ง “Take down” สินค้าจากระบบโดยทันที
หากพบว่าสินค้าบางประเภททะลักเข้ามาในระดับที่กระทบต่อผู้ผลิตไทย อาจจำเป็นต้องใช้มาตรการตอบโต้ เช่น มาตรการปกป้องภายใต้กรอบ WTO เพื่อเก็บภาษีเพิ่มเติมชั่วคราว และผู้ขายที่จงใจหลอกลวงผู้บริโภค หลีกเลี่ยงภาษี
หรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายควรได้รับบทลงโทษสูงสุด รวมถึงการปิดบัญชีถาวร การยึดสินค้า และการฟ้องร้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค
สงครามการค้ารอบใหม่นี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องของตัวเลขภาษีนำเข้าส่งออกเท่านั้น หากแต่ยังท้าทายโครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในหลายมิติ ทั้งการบริหารความเสี่ยงจาก “สินค้าล้นตลาด”
การคุ้มครองผู้ประกอบการไทย และการรักษามาตรฐานคุณภาพสินค้าในยุคที่การซื้อขายออนไลน์เกิดขึ้นในพริบตา
หากไม่มีการเตรียมพร้อมที่รัดกุม ไทยอาจกลายเป็น “ทางผ่าน” สำหรับสินค้าราคาถูกที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งไม่เพียงกระทบผู้ผลิตท้องถิ่น แต่ยังเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และสถานะการค้าระหว่างประเทศในระยะยาว
ประเทศไทยควรเร่งผลักดันนโยบายที่บูรณาการระหว่างการค้าระหว่างประเทศและธรรมาภิบาลดิจิทัล เช่น การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลางด้านการนำเข้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ การพัฒนากฎหมายใหม่สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัล
การส่งเสริมให้แพลตฟอร์มไทยมีระบบตรวจจับความผิดปกติด้วยปัญญาประดิษฐ์และแมชชีนเลิร์นนิง ควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะเจ้าหน้าที่รัฐในด้านการกำกับดูแลดิจิทัล
การพัฒนาระบบตรวจสอบสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงแบบอัตโนมัติ เป็นอีกหนึ่งความจำเป็น โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการติดตามแหล่งที่มาของสินค้าตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
ทำให้สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าสินค้าชิ้นนั้นมาจากประเทศใด ผ่านเส้นทางไหนบ้าง ทำให้การปลอมแปลงแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อหลบเลี่ยงภาษีเป็นไปได้ยากขึ้น
เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถมุ่งเน้นตรวจสอบเฉพาะสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการตรวจสอบสินค้าเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม โดยเฉพาะการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบสินค้านำเข้าที่ทันสมัยในพื้นที่ยุทธศาสตร์ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือศูนย์กระจายสินค้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่
การติดตั้งเครื่องมือตรวจสอบที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุด เช่น เครื่องสแกนที่สามารถวิเคราะห์องค์ประกอบของสินค้าโดยไม่ต้องเปิดบรรจุภัณฑ์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้นสินค้าอันตรายหรือผิดกฎหมาย โดยไม่ทำให้กระบวนการนำเข้าล่าช้าจนกระทบต่อการค้าปกติ
การสร้างพันธมิตรระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ Public-Private Partnership (PPP) จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
โดยรัฐบาลควรจัดตั้งคณะทำงานร่วมที่มีตัวแทนจากทั้งหน่วยงานรัฐและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ เพื่อพัฒนานโยบายและกลไกการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่น และสอดคล้องกับบริบทการค้าดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน จะช่วยให้การตรวจจับและป้องกันการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายหรือหลบเลี่ยงภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ภายใต้สภาวะสงครามการค้าโลกใหม่ ประเทศไทยต้องตื่นตัวมากกว่าที่เคย ไม่ใช่เพียงการป้องกันผลกระทบเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังต้องมองไกลถึงอนาคตของ “ระบบการค้าดิจิทัลที่ยั่งยืน” ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมืออาชีพ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 11 เมษายน 2568