"ย้ายฐานผลิตโอโฟนมาสหรัฐ" ฝันที่เป็นจริงหรือฝันกลางวัน?
ตั้งแต่ในสมัยแรกที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ นั่งเก้าอี้ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ได้มีความพยายามในการย้ายฐานการผลิตของแอปเปิล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือเจ้าใหญ่ของโลก มาที่สหรัฐ แต่ก็ล้มเหลว ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่เกิดขึ้นยังได้กระตุ้นให้แอปเปิลย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปที่อินเดียและเวียดนามด้วย
ในวาระที่ทรัมป์กลับมาตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง ถือเป็นโอกาสในการทำความฝันให้เป็นจริง หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของมาตรการภาษีสุดโหดที่มุ่งเป้าโจมตีไปที่จีนคือการทำให้บริษัทแอปเปิล ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่คูเปอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย ย้ายฐานการผลิตมายังสหรัฐให้ได้ อย่างไรก็ดี แม้สหรัฐจะเก็บภาษีสินค้าที่ผลิตในจีนสูงถึง 145% ปรากฎการณ์ดังกล่าวอาจจะเป็นแค่ฝันลมๆ แล้งๆ เนื่องจากว่าจีนเป็นสถานที่ที่ถูกใช้ในการผลิตไอโฟนมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งคิดเป็นเวลานานกว่า 18 ปี
การสร้างโรงงานใหม่ในสหรัฐไม่เพียงแต่ต้องใช้เวลานานหลายปีเท่านั้น แต่ต้องใช้เงินลงทุนมูลค่ามหาศาล ท่ามกลางความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากมาตรการภาษีที่ทางบริษัทกำลังเผชิญที่อาจจะทำให้ราคาของไอโฟนเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อยอดขายของทางบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถึงแม้ว่ามาตรการภาษีต่างตอบแทนล่าสุดที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 11 เมษายน จะยกเว้นสินค้าประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ความกังวลในเรื่องราคาอาจจะพุ่งสูงขึ้นก็ยากที่จะคลายลงได้ อันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายที่รัฐบาลสหรัฐอาจจะเรียกเก็บภาษีดังกล่าวอีกในอนาคต
นายแดน ไอเวส นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์เวดบุช ให้ความเห็นที่สอดคล้องกับมุมมองส่วนใหญ่ของกลุ่มนักลงทุนที่ติดตามการเคลื่อนไหวเชิงธุรกิจของแอปเปิลอย่างใกล้ชิดว่า แนวคิดการผลิตไอโฟนในสหรัฐนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ตั้งแต่แรก โดยราคาของไอโฟนที่ในปัจจุบันผลิตในจีนหรืออินเดียที่มีมูลค่า 1,000 ดอลลาร์ จะพุ่งขึ้นไปที่ 3,000 ดอลลาร์หากผลิตในสหรัฐ พร้อมกล่าวว่า “ราคาจะทะยานขึ้นไปในระดับที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจได้” ทั้งยังระบุด้วยว่า การย้ายฐานผลิตเข้ามาในประเทศสามารถทำได้อย่างเร็วที่สุดในปี 2028 เลยทีเดียว
กระนั้นก็ดี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แอปเปิลยังสามารถตรึงราคาไอไฟนไว้ได้ ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจจากมาตรการภาษี เป็นผลมาจากการที่ทางบริษัทยังคงสามารถทำกำไรจากการบริการสมัครสมาชิกและบริการอื่นๆ ในการใช้สินค้าของแอปเปิล โดยดิปัญจัน แซตเตอร์จี นักวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยฟอเรสเตอร์กล่าวว่า การบริการดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ได้มากถึง 96,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในผลประกอบการเมื่อปี 2024
ทั้งนี้ แซตเตอร์จีเน้นย้ำว่า แอปเปิลสามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการภาษีโดยไม่ส่งผลกระทบทางด้านทางเงินของทางบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ แต่นั้นก็เป็นเพียงในระยะสั้นเท่านั้น โดยนักวิเคราะห์จำนวนมากคาดการณ์ว่า หากมาตรการภาษียังคงมีผลบังคับใช้ แอปเปิลจะต้องปรับขึ้นราคาไอโฟนและสินค้าแอปเปิลประเภทอื่นๆ ด้วยเหตุว่า ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทยึดโยงกับจีน อินเดียและตลาดในต่างประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งประเทศเหล่านี้กำลังแบกรับผลกระทบ…จาก…สงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าเมื่อวันที่ 2 เมษายน ราคาหุ้นของแอปเปิลลดลงถึง 15% คิดเป็นมูลค่าในตลาดกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ นายทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิลยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใดๆ ในเรื่องมาตรการภาษี รวมถึงการย้ายฐานการผลิต อย่างไรก็ดี ในวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่ทางบริษัทต้องแถลงผลประกอบการไตรมาสแรกและกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจ มีความเป็นไปได้ที่ประเด็นดังกล่าวอาจจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย
ต้องจับตากันดูต่อไปว่า แอปเปิลจะสามารถยังคงราคาเดิมของไอโฟนไปได้นานอีกเท่าไหร่ ก่อนที่บริษัทจะไม่สามารถทนกับแรงกระแทกจากมาตรการภาษีได้อีกต่อไป ซึ่งจะจบลงที่ผู้บริโภคต้องแบกรับกับราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น
นอกจากนั้น เป็นที่น่าติดตามว่ามาตรการภาษีต่างตอบแทนของรัฐบาลสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนของบริษัทในมูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการจ้างงาน 200,000 ตำแหน่งในประเทศให้ได้ภายในปี 2028 ไปจนถึงการลงทุนจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เมืองฮิวสตัน ที่ได้ประกาศมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหรือไม่
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 14 เมษายน 2568