จับตาไทย- อินเดีย เร่งเจรจาเอฟทีเออียู วางเป้าปิดดีลปลายปีนี้
KEY POINTS :
* ปัจจุบัน ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) จำนวน 17 ฉบับ กับ 24 ประเทศ
* ไทย-ภูฏาน ถือเป็น FTA ฉบับที่ 17 ของไทย
* ไทย-อินเดีย มีเป้าหมายเร่งเจรจาเอฟทีกับอียู ให้เสร็จสิ้นภายในปลายปีนี้
* อินเดีย กลับมาเปิดโต๊ะเจรจา FTA รอบใหม่กับอียู
* นาง von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ชี้ FTA อินเดีย-อียู จะถือเป็น “ข้อตกลง FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก”
* ไทยมั่นใจปิดดีลเจรจาไทย-อียู ได้ปลายปีนี้
ความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (Free Trade Agreement: FTA) เป็นข้อตกลงทางการค้าเพื่อลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกการค้า ซึ่งปัจจุบัน ไทยมีความตกลงการค้าเสรี จำนวน 16 ฉบับ กับ 23 ประเทศ โดยแบ่งเป็นความตกลงระดับทวิภาคี 7 ฉบับ และระดับภูมิภาค 9 ฉบับ ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 เม.ย. นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและนายกฯภูฏาน ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ภูฏาน ถือเป็น FTA ฉบับที่ 17 ของไทย
นอกจากนี้ยังมี FTA อีกหลายฉบับที่ไทยกำลังเร่งเจรจาให้ปิดดีลได้โดยเร็ว เพื่อเปิดตลาดใหม่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะ FTA ไทยกับสหภาพยุโรป หรืออียู ที่ไทยต้องการให้ปิดดีลให้ได้ภายใน วันที่ 25 ธ.ค.นี้ เพื่อเปิดตลาดการค้าของไทยในประเทศกลุ่มยุโรป 29 ประเทศ และลดความเสี่ยงจากสถานการณ์สงครามการค้ารอบ 2 ปะทุขึ้นรุนแรง หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งบริหารเพื่อเรียกเก็บภาษีศุลกากรแบบต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) กับสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้า เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ โดยอัตราภาษีดังกล่าวคำนวณโดยนำตัวเลขการขาดดุลและมูลค่าการนำเข้าทางการค้าของสหรัฐฯกับประเทศคู่ค้ามาคำนวณ ซึ่งในส่วนของไทยคำนวณออกมาแล้วมีอัตราภาษี 36%
ไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้นที่ต้องการปิดดีลกับอียู แต่อินเดีย ก็ต้องการปิดดีล FTA กับอียู ให้ได้ในปีนี้เช่นกัน ล่าสุดเว็ปไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานความคืบหน้าการล่าสุด ในการเดินหน้าทำดีล FTA อินเดียกับอียู ว่า เกือบสองทศวรรษนับตั้งแต่มีการเริ่มเจรจา FTA ครั้งแรกระหว่างอียู กับอินเดีย ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ได้ข้อสรุปและเห็นว่า การเจรจาที่ยืดเยื้อนี้ใกล้จะบรรลุผลสำเร็จแล้วโดยนาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (EU) และนาย Narendra Modi นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดียตั้งเป้าที่จะให้สรุปการเจรจาฯ ภายใน 9 เดือนข้างหน้า
นาง von der Leyen กล่าวว่า FTA ฉบับนี้จะถือเป็น “ข้อตกลง FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” และนาง von der Leyen เห็นด้วยกับนาย Modi ที่จะ “เร่งดำเนินการเพื่อให้เราบรรลุข้อตกลงดังกล่าวได้ในปีนี้” และในระหว่างการปรากฏตัวต่อหน้าสื่อมวลชนของนาย Modi ก็ได้มีการเน้นย้ำอีกครั้งว่า เขาได้สั่งให้ผู้เจรจาของฝั่งอินเดียเร่งสรุปข้อตกลง FTA ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันกับ EU ให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้
ดังนั้น ความมุ่งมั่นที่ชัดเจนของทั้ง 2 ฝ่าย ที่มีต่อข้อตกลงทำให้การเจรจาที่เคยเหมือนว่าจะหยุดชะงักไปแล้วนั้น กลับมามีแรงกระตุ้นใหม่อีกครั้ง จากผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่ทำให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีก 1 สมัย ได้สร้างความกลัวต่อข้อขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯ และสร้างความกังวลใจให้แก่อินเดียและ EU เป็นอย่างมาก จนทำให้เกิดแรงกดดันอย่างหนักที่จะให้เร่งบรรลุข้อตกลง FTA ให้ได้
ในการกล่าวสุนทรพจน์ของนาง von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการ EU ก่อนการพบปะกับนาย Modi ได้มีการบรรยายถึงสถานการณ์โลกที่ดูจะเลวร้าย ซึ่งเธอเชื่อว่า สถานการณ์ดังกล่าวกำลังทำให้อินเดียและยุโรปเขยิบตัวเขาหากันมากขึ้น ทั้ง EU และอินเดียต่างก็กำลังเผชิญหน้ากับอุปสรรคด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) และภูมิเศรษฐกิจ (Geoeconomic) อย่างหนัก
ตามข้อมูลของคณะกรรมาธิการฯ ปัจจุบัน EU ถือว่าเป็นพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่ที่สุดของอินเดียอยู่แล้ว ในปี 2023 ปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ 124 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น 90% จากทศวรรษที่แล้ว ขณะนี้มีบริษัทจาก EUประมาณ 6,000 ราย เข้าไปดำเนินกิจการอยู่ในอินเดีย นาง von der Leyen กล่าวว่า
“แต่เราจะสามารถทำได้ดีมากกว่านี้มากหากสามารถปรับปรุงการเข้าถึงตลาด และขจัดอุปสรรคการค้า” การศึกษาวิจัยที่นำเสนอโดยรัฐสภายุโรปในปี 2020 ประเมินว่า การส่งออกจาก EU ไปอินเดียอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% หลังจากที่สรุปข้อตกลง FTA และการส่งออกของอินเดียไปยังยุโรปจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ใน 3 ด้วยเช่นกัน
ในส่วนของไทย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไทยและอียูจะมีกำหนดการที่จะเจรจารอบที่ 6 โดย ทีจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 มิ.ย. 2568 ณ ประเทศไทย โดยกรรมาธิการยุโรปฯ ยังแสดงความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งสรุปผลการเจรจาให้ได้โดยเร็วที่สุด ภายในวันที่ 25 ธ.ค. 2568 อันจะเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของทั้งสองฝ่ายในอนาคต
“สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ของโลกในปัจจุบัน กอปรกับการประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐต่อประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทย ตลอดจนข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการค้าโลกในอนาคต ไทยกับ EU จึงเห็นพ้องกันว่าการเป็นพันธมิตรทางการค้าที่เชื่อถือได้และคาดการณ์ได้เป็นสิ่งจำเป็น และทำให้การเร่งเดินหน้าเจรจา FTA ไทย-EU ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น”นายพิชัย ระบุ
นี่คือความคืบหน้าล่าสุด ซึ่งไทยและอินเดีย ต่างมีเป้าประสงค์เดียวกันคือ การปิดดีล FTA ให้ได้ในสิ้นปีนี้ ซึ่งต้องจับต่อไปว่า ระหว่างไทยกับอินเดีย ใครจะเข้าวินได้ก่อนกัน ซึ่ง“นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายการค้า สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ไทยจะต้องเร่งเดินหน้าการเจรจา FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และพิจารณา FTA ในตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพควบคู่กันไป ทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา สอดคล้องกับข้อเสนอของสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)ที่ของให้รัฐบาลเร่งเจรจาและใช้ประโยชน์ FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญอื่น เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า และกระจายสินค้าไปในตลาดอื่นได้มากขึ้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 16 เมษายน 2568