สงครามการค้า เขย่าโลก เมื่อทรัมป์เปิดศึก "จีน" เต็มตัว
โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยังคงรักษาความเป็นคนที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายใด ๆ ด้วยการจู่ ๆ ก็ประกาศระงับการขึ้นภาษีศุลกากรเป็นการตอบโต้ต่อนานาประเทศทั่วโลกไว้ชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน ที่ประกาศออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า แต่พร้อมกันนั้นก็เลือกที่จะดันระดับกำแพงภาษีที่เคยกำหนดไว้สำหรับจีน จากเดิม 104% เป็น 125% แถมยังกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในทันที
หมายความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากว่า “สงครามการค้า” ระหว่างชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของโลก ได้ระเบิดขึ้นอย่างเต็มตัวแล้วนั่นเอง
การหันมาเล่นงานจีนอย่างหนักหน่วงและจำเพาะเจาะจงในครั้งนี้ ว่ากันว่าอาจเป็นความพยายามเพื่อ “รักษาหน้าตัวเอง” ที่ต้องกลับลำกะทันหันจากการทำสงครามการค้ากับทั้งโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างหนัก และก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวผิดปกติในตลาดพันธบัตรขึ้นตามมา
แต่ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอย่างไร ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็ส่งผลให้ ในความเป็นจริง การค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ไม่มีทางดำเนินต่อไปได้ภายใต้กำแพงภาษีสูงลิ่วที่สาดใส่เข้าหากัน ทำให้ความหวั่นวิตกของใครต่อใครที่กลัวกันว่า การค้าระหว่างประเทศทั้งสองจะยุติลง ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และก่อผลสะเทือนกระทบออกไปเป็นวงกว้างทั่วโลก เกิดเป็นจริงขึ้นมา
รัฐบาลทรัมป์อ้างว่า มีตัวแทนของรัฐบาลหลายสิบประเทศ ติดต่อเข้ามาขอเจรจาด้วยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากมาตรการกำแพงภาษีของตน แต่จนแล้วจนรอด ไม่มีจีนอยู่ในจำนวนประเทศเหล่านั้น ทางการจีนแสดงออกอย่างแข็งกร้าวตั้งแต่แรกเริ่ม ด้วยการตอบโต้การข่มขู่ของทรัมป์อย่างสมน้ำสมเนื้อตลอดมา สำทับซ้ำด้วยว่า จะสู้กับสหรัฐอเมริกาจนถึงที่สุด ไม่ว่าจะไปลงเอยที่ตรงไหนก็ตามที
ท่าทีของจีนแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะตกอยู่ในสภาพใด ฝ่ายตนก็เชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่าสามารถยืนหยัดอยู่ได้มากกว่า นานกว่าทรัมป์ เพราะเตรียมการสำหรับทำศึกหนนี้มานานปี ตรงกันข้าม ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ทรัมป์ กับ เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่รายล้อมอยู่รอบตัว เตรียมทำสงครามการค้ากับจีนครั้งนี้มาพร้อมแล้วหรือไม่ ตระหนักถึงศักยภาพในการอดทนของจีนหรือไม่ และพร้อมรับมือกับความเจ็บปวดที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะได้รับแล้วหรือไม่
และถ้าหากประธานาธิบดีทรัมป์ เชื่อในสิ่งที่เขากล่าวอ้างอยู่บ่อย ๆ ว่า ตนมี “ความสัมพันธ์ที่ดีเลิศ” กับ สี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีน ซึ่งจะส่งผลให้จีนยอมโอนอ่อนผ่อนตามยอมเจรจากับสหรัฐอเมริกาในที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับบ่งชี้ไปในทางตรงกันข้าม จีนไม่เพียงตอบโต้สหรัฐอย่างเต็มที่ในทุกครั้งเท่านั้น ยังไม่แม้แต่จะพาดพิงถึงการเจรจาเลยแม้แต่ครั้งเดียว
บรรดาผู้สันทัดกรณีเห็นตรงกันว่า โอกาสที่จะเกิดการเจรจาเพื่อหาหนทางจำกัดการลุกลามของสงครามการค้าครั้งนี้ “มีน้อยยิ่งกว่าน้อย” ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับสถานการณ์เมื่อหลายปีก่อนในยุค ทรัมป์ 1.0 ที่การลุกลามถูกจำกัดลงด้วยความตกลงทางการค้าระหว่างกัน
ในทางหนึ่งนั้น เป็นเพราะพฤติกรรมของทรัมป์ในคราวนี้ แข็งกร้าวและรุนแรงเกินไป จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามที เพราะพอเริ่มต้นก็เล่นงานจนจีนแทบไม่เหลือทางเลือก ที่น่าแปลกก็คือ แม้จะรุนแรงแข็งกร้าวเพียงใด ทรัมป์และคณะกลับไม่มียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีที่แจ่มแจ้งชัดเจนในการจัดการกับจีน
สิ่งที่ทรัมป์และคณะทำกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือการแสดงออกถึงการขาดความเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของฝ่ายตรงกันข้าม ที่ปรากฏให้เห็นกันบ่อย ๆ เมื่อรัฐบาลทรัมป์ ดำเนินการกับประเทศอื่น ๆ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือคำกล่าวของ เจดี. แวนซ์ ที่เรียกผู้ผลิตชาวจีนว่าเป็นพวก “บ้านนอก” หรือ “ไพร่” ในการให้สัมภาษณ์กับ ฟอกซ์ นิวส์ เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีอีกสารพัดเหตุผล ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือแม้แต่จุดยืนของจีนบนเวทีโลก ที่ทำให้คราวนี้ สี จิ้นผิง จะยอมอ่อนข้อ ค้อมหัวให้กับทรัมป์ ไม่ได้เป็นอันขาด การแสดงความอ่อนแอต่อทรัมป์ ไม่เพียงเป็นผลเสียต่อสถานะผู้นำภายในประเทศเท่านั้น ยังเป็นเครื่องบั่นทอนอำนาจและเสียหน้าครั้งใหญ่หลวงต่อทั้งโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบรรดาประเทศทั้งหลายในเอเชียด้วยกัน
ทั้งหมดนี้คือเหตุปัจจัยที่ว่า ทำไม “อหังการ” ที่มีอยู่ในจีน ถึงได้อยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากมายนักกับที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกา และเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไม จีนถึงแม้จะต้อง “กลืนเลือด” ก็ไม่ยอมค้อมหัวให้กับการบัญชาข่มขู่จากฝ่ายอเมริกัน และพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจได้ว่า สหรัฐอเมริกาเองก็ต้องลำบากเลือดตาแทบกระเด็นจากสงครามครั้งนี้เช่นกัน
นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ธรรมชาติของผู้นำเผด็จการโดยเนื้อแท้กับผู้นำเผด็จการจำแลงในคราบประชาธิปไตยนั้นต่างกัน ฝ่ายแรกสามารถโยนความเจ็บปวดให้กับประชาชนของตนเองได้มากกว่า โดยไม่กะพริบตาด้วยซ้ำไป ในขณะที่ฝ่ายหลังอาจละล้าละลัง ติดขัดอยู่กับเงื่อนไขภายใต้คราบประชาธิปไตยที่ครอบอยู่ พูดง่าย ๆ ก็คือ หากเดือดร้อนมากเข้า คนอเมริกันนั่นแหละที่จะออกมาเคลื่อนไหวกดดันทรัมป์แทนจีน
แม้สภาพเศรษฐกิจจีนจะตกอยู่ในภาวะชะลอตัว มีปัญหาสารพัดในโครงสร้างเศรษฐกิจ กระนั้น จีนก็มีวิธีการที่จะสร้างความเจ็บปวดให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคอเมริกันได้มากมาย สำหรับสหรัฐอเมริกานั้น จีนคือผู้ส่งออกสินค้าเข้ามาในประเทศอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 16% ของปริมาณทั้งหมดที่สหรัฐอเมริกานำเข้ามาในแต่ละปี แถมเป็นรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาใน 3 หมวดสินค้า อย่าง สมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์ และของเล่น มีความเป็นไปได้ว่า สินค้าเหล่านี้จะหายไป หรือไม่ก็ราคาแพงจนผู้บริโภคอเมริกันจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงได้ ในทันทีที่มาตรการกำแพงภาษีถูกบังคับใช้
นอกจากนั้น จีนยังสามารถเลือกสร้างความปั่นป่วนให้กับภาคเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ด้วยการยุติการส่งสินแร่หายากที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมนี้มาให้สหรัฐอเมริกา ที่ว่ากันว่า เป็นเหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการพยายามของทรัมป์ในการควานหาแหล่งทดแทนอย่าง ยูเครน หรือกรีนแลนด์ การห้ามบริษัทอเมริกันเข้ามาดำเนินการในจีน การยุติการนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวโพดและข้าวฟ่างจากเกษตรกรอเมริกัน ทั้งหมดนี้ล้วนสร้างความเจ็บปวดให้ผู้บริโภคชาวจีนไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจในการตอบโต้ที่แท้จริง ที่ “สี จิ้นผิง” มี
ในสงครามการค้า ไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะภายใต้ความเป็นจริงข้อนี้ ทรัมป์ จึงกำลังเปิดศึกครั้งใหญ่ในสงครามที่ไม่มีวันเอาชนะได้อยู่ในเวลานี้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 17 เมษายน 2568