เทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติอาจชะลอ หลังรัฐบาลจีนสั่งกระชับกฎเกณฑ์
รัฐบาลจีนสั่งกระชับกฎเกณฑ์ กรณีเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ ห้ามโฆษณาเกินจริง หลังเกิดอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตในช่วงไม่นานมานี้ ซึ่งอาจทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวต้องชะลอออกไป
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีนจัดประชุมกับค่ายรถสัญชาติจีนหลายสิบราย เพื่อหารือการกระชับกฎเกณฑ์เทคโนโลยีช่วยขับ (Driver Assistance) ซึ่งอาจชะลอการติดตั้งระบบดังกล่าว
ตามแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 เมษายน ระบุว่า ค่ายรถจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อปรับปรุงระเบียบความปลอดภัย และไม่สามารถโฆษณาระบบดังกล่าวเกินจริง เช่น อ้างว่า ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Self-Driving) ได้ นอกจากนี้ยังต้องย้ำให้ผู้ขับขี่วางมืออยู่บนพวงมาลัยขณะขับขี่เสมอ
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีนยังย้ำกับทางค่ายรถอีกด้วยว่า ห้ามทดสอบตัวรถกับผู้บริโภคจนกว่าตัวรถจะได้รับผลิตเสร็จสิ้น และห้ามผู้บริโภคใช้ฟีเจอร์จอดรถยนต์อัตโนมัติ หากไม่ได้โดยสารอยู่บนตัวรถ
กฎเกณฑ์ใหม่นี้อาจทำให้ฟีเจอร์สมาร์ทค็อกพิต (Smart Cockpit) และระบบช่วยเหลือการขับขี่ที่จะออกมาในอนาคตต้องถูกเลื่อนออกไป ก่อนหน้านี้ หลี่ ออโต้ (Li Auto) และ เอ็กซ์เผิง (Xpeng) เคยจัดงานทดสอบตัวรถ ซึ่งเชิญผู้ใช้กว่า 1,000 คนมาร่วมประเมินเทคโนโลยีดังกล่าว ตามกฎใหม่นี้ งานดังกล่าวจะไม่สามารถจัดได้อีกต่อไป
กฎเกณฑ์ใหม่ดับฝันค่ายรถส่วนใหญ่ที่พยายามจะชูฟีเจอร์ขับขี่อัจฉริยะเป็นจุดขาย ซึ่งก่อนหน้านี้ เทสลา (Tesla) ปล่อยตัวรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มระบบในจีนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่บีวายดี (BYD) วางแผนพัฒนาระบบช่วยขับที่ล้ำหน้า โดยไม่เพิ่มราคา
ทั้งนี้ ระเบียบดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากไม่กี่สัปดาห์ก่อน รถยนต์ SU7 ของเสียวมี่ (Xiaomi) เกิดอุบัติเหตุทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิต 3 ราย ซึ่งระบบแจ้งเตือนว่ารถคันดังกล่าวเปิดระบบขับออโต้ไพลอทน้อยกว่า 20 นาทีก่อนเกิดการชน
การแจ้งเตือนดังขึ้นเมื่อผู้ขับขี่ปล่อยมือออกจากพวงมาลัย และแจ้งเตือนอีกครั้งเกี่ยวกับสิ่งกีดขวางบนเส้นทาง ทำให้ผู้ขับขี่กลับมาจับพวงมาลัยอีกครั้ง ก่อนปะทะกับรั้วคอนกรีตข้างทาง ทั้งนี้ อุบัติเหตุดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนสืบสวนของตำรวจ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนพยายามควบคุมเทคโนโลยีช่วยขับ มาตั้งแต่ก่อนเกิดอุบัติเหตุของเสียวมี่ โดยมีแนวทางเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟแวร์บนตัวรถออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อลดความถี่ในการอัพเดต ซึ่งจะบีบให้ค่ายรถต้องพัฒนารถที่สมบูรณ์เพียงพอก่อนวางขาย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 21 เมษายน 2568