นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกถล่ม "ภาษีทรัมป์" ไร้หลักการ เสี่ยงฉุดเศรษฐกิจถดถอย
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล - ทั่วโลกกว่า 900 คน ถล่ม "ภาษีทรัมป์" ชี้นโยบายกีดกันการค้าไร้หลักการเตือนภาวะ "เศรษฐกิจถดถอย" จากความผิดพลาดของรัฐบาล
เว็บไซต์บิสสิเนสอินไซเดอร์ รายงานว่านักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก รวมถึงผู้ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 คน ได้ร่วมลงนามในจดหมายที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายภาษีนำเข้าของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” โดยพวกเขาเห็นว่านโยบายนี้เป็น "ความเข้าใจผิด" และเตือนว่ามันอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลงเพราะนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล
เหล่านักเศรษฐศาสตร์กว่า 900 คนได้ลงนามในเอกสารที่มีชื่อว่า "คำประกาศต่อต้านภาษีนำเข้า" และเตือนว่าเวลาในการแก้ไขนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ในด้านการค้า ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจนั้นน้อยลงไปทุกที
ในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่ร่วมลงนามใน "คำประกาศต่อต้านภาษีศุลกากร" นั้น มีบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น เจมส์ เฮกแมน และเวอร์นอน สมิธ ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบล, ฟิล แกรมม์ นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจากพรรครีพับลิกันแห่งรัฐเท็กซัส, และ เอ็น เกรกอรี แมงกิว อดีตประธานคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช
ชี้นโยบายกีดกันการค้า ‘ไม่มีหลักการ’ :
จดหมายดังกล่าวระบุว่า ผู้ที่สนับสนุนการเก็บภาษีนำเข้ามองว่ามาตรการเหล่านี้เป็นการ “ปลดปล่อยทางเศรษฐกิจ” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาษีนำเข้ากลับบิดเบือนหลักการของเสรีภาพ ซึ่งเป็นรากฐานของยุคแห่งเสรีภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ที่นำโดยอเมริกา"
กล่าวคือ นโยบายภาษีนำเข้าขัดแย้งกับหลักการเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่อเมริกาเคยยึดมั่นมา
นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ยังชี้ให้เห็นว่า เหตุผลเบื้องหลังการเก็บภาษีนำเข้าของรัฐบาลทรัมป์นั้น มาจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งคาดการณ์ว่าชาวอเมริกันจะต้องแบกรับภาระหนักจากนโยบายที่ผิดพลาดเหล่านี้ ในรูปแบบของราคาสินค้าที่สูงขึ้น และความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดจากการกระทำของรัฐบาล
รวมทั้งได้วิพากษ์วิจารณ์ "นโยบายภาษีนำเข้าแบบตอบโต้" ของทรัมป์เป็นพิเศษ โดยการที่สหรัฐขู่ และบังคับใช้กับประเทศอื่นๆ นั้น เป็นการคำนวณโดยใช้สูตรที่ผิดพลาด และไม่ได้คิดขึ้นเอง ซึ่งไม่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริงซึ่งหมายความว่า การกำหนดอัตราภาษีนำเข้าของทรัมป์นั้นไม่ได้มีหลักการทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมรองรับ
อย่างไรก็ดีนักเศรษฐศาสตร์ยังมีความหวังว่าความคิดเห็นเหล่านี้จะได้รับการยอมรับในที่สุด และหวังว่า "หลักการเศรษฐศาสตร์ที่สมเหตุสมผล, หลักฐานเชิงประจักษ์, และบทเรียนจากประวัติศาสตร์ จะสามารถเอาชนะความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการกีดกันทางการค้าที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน"
แม้แต่คนในพรรคยังเห็นต่าง :
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มอนุรักษนิยมส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์อย่างเต็มที่ แต่ในเรื่องของภาษีนำเข้านั้น ทรัมป์กลับต้องเผชิญกับการต่อต้านจากภายในมากขึ้น รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกันถึง 7 คน ที่ร่วมลงนามสนับสนุนร่างกฎหมายที่เสนอให้ยกเลิกภาษีนำเข้าภายใน 60 วัน หากประธานาธิบดีบังคับใช้โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในพรรคของตนเองก็มีความเห็นต่างต่อนโยบายนี้
ตั้งแต่เริ่มสมัยที่สองทรัมป์ ได้ดำเนินนโยบายภาษีนำเข้าที่เปลี่ยนแปลงไปมาหลายครั้ง โดยมีการประกาศใช้, บังคับใช้, และยกเลิกภาษีนำเข้าต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ในวันที่ 2 เม.ย.68 ซึ่งทรัมป์เรียกว่า "วันแอก" ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่กับหลายประเทศทั่วโลก แต่หลังจากนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ เขาก็ประกาศระงับการขึ้นภาษีนำเข้าสูงสุดเป็นเวลา 90 วัน โดยยังคงอัตราพื้นฐานไว้ที่ 10% สำหรับประเทศส่วนใหญ่
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้ทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการเมืองที่ยาวนานกับแคนาดา และเม็กซิโกสั่นคลอน และยังคงทำสงครามการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่อง
การกระทำที่เปลี่ยนแปลงไปมาของทรัมป์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลให้ตลาดหุ้น และพันธบัตรเกิดความผันผวนอย่างมาก ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์กลยุทธ์การค้าที่ไม่แน่นอนของรัฐบาลมาก่อนหน้านี้แล้วว่าส่งผลกระทบตลาดหลากทุน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 21 เมษายน 2568