จีนจัดแข่งวิ่งมาราธอนระหว่าง "คน - หุ่นยนต์" ในสนามเดียวกันครั้งแรก
งานฮาล์ฟมาราธอน "Beijing E-Town Half Marathon and Humanoid Robot Half Marathon 2025" เปิดสนามให้หุ่นยนต์สองขา 21 ตัว ร่วมแข่งกับมนุษย์ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพหุ่นยนต์ และเก็บข้อมูลพัฒนาการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมของประเทศจีน
เช้าตรู่ของวันเสาร์ (19 เม.ย.) ในเขตอี้จวง ทางตอนใต้ของปักกิ่ง ประเทศจีน ผู้คนกว่า 12,000 คนรวมตัวกันที่จุดปล่อยตัวของงาน Beijing E-Town Half Marathon and Humanoid Robot Half Marathon ปี 2568 บรรยากาศดูไม่ต่างจากงานวิ่งทั่วไป หากไม่ติดว่าภายในเลนข้างๆ มีนักวิ่งอีกกลุ่มยืนนิ่งอยู่ในท่าทางแข็งทื่อ พร้อมเสียงกลไกโลหะที่ดังเป็นจังหวะเบาๆ
พวกเขาไม่ใช่มนุษย์ แต่คือ “หุ่นยนต์สองขา” จำนวน 21 ตัวที่เข้าร่วมการแข่งขันฮาล์ฟมาราธอน โดยมีทั้งมนุษย์และหุ่นยนต์ร่วมวิ่งในสนามเดียวกันเป็นครั้งแรกของโลก

หุ่นยนต์ที่เข้าร่วมการแข่งขันมีหลากหลายรูปแบบและขนาด บางตัวมีใบหน้าคล้ายผู้หญิง บางตัวสูงเกือบ 2 เมตร ถูกควบคุมด้วยทีมวิศวกรที่วิ่งตามหรือคอยประคองด้านหลังในกรณีที่หุ่นยนต์ล้มลง โดยวิ่งในเลนที่แยกจากมนุษย์ ระยะทาง 21 กิโลเมตร (13 ไมล์) ผ่านเส้นทางเขตอีจวงทางตะวันออกเฉียงใต้ของปักกิ่ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของที่ตั้งบริษัทเทคโนโลยี
เส้นทางมีความท้าทายทั้งทางลาดเอียงและโค้งหักมุม ทีมงานแต่ละค่ายสามารถเปลี่ยนแบตให้หุ่นยนต์ระหว่างทางได้ รวมถึงสามารถสลับหุ่นตัวใหม่เข้ามาได้หากตัวเดิมไม่ไหว โดยจะได้รับโทษเวลาบวกเพิ่ม 10 นาทีต่อการเปลี่ยนแต่ละครั้ง
หุ่นยนต์ได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มข้นก่อนการแข่งขัน แต่ก็ยังพบอุปสรรค หลายตัวสะดุดล้มตั้งแต่เส้นสตาร์ต บางตัวพุ่งชนรั้วและทำให้ผู้ควบคุมล้มลง มีหุ่นยนต์ชื่อ หวนหวน วิ่งผิดทิศทางและนั่งลงกับพื้นไม่ยอมลุกขึ้น บางตัวล้มกระแทกราวเหล็กจนผู้ช่วยที่วิ่งประกบล้มตามไปด้วย และมีหลายตัวที่ต้องพึ่งพาเชือกจูงหรือควบคุมด้วยรีโมต
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหุ่นยนต์บางตัวล้มลงหรือวิ่งผิดทาง แต่ผู้จัดงานก็ยืนยันว่าเป้าหมายของกิจกรรมนี้ไม่ใช่ชัยชนะ แต่คือการ “ฝึกสนามจริง” เพื่อให้หุ่นยนต์เหล่านี้สามารถก้าวไปสู่การทำงานในภาคอุตสาหกรรม และบริการได้ในอนาคต โดยมีหุ่นยนต์ 6 จาก 21 ตัวสามารถวิ่งจนจบได้
เทียนกง อัลตร้า หุ่นยนต์ที่วิ่งเข้าเส้นชัยตัวแรก :
ภายในงานดูคล้ายกิจกรรมโชว์เคสทางเทคโนโลยี แต่เงื่อนไขการแข่งขันไม่ได้อ่อนข้อให้เหล่าหุ่นยนต์มากนัก ทั้งสนามจริงระยะทาง 21 กิโลเมตรที่มีทางลาดเอียง ทางโค้ง และการวิ่งต่อเนื่องหลายชั่วโมง ท่ามกลางสายตาของผู้คนและสื่อทั่วโลก
“เทียนกง อัลตร้า” (Tiangong Ultra) หุ่นยนต์สูง 1.8 เมตร หนัก 55 กิโลกรัม จากศูนย์วิจัย Beijing Humanoid Robot Innovation Center คือผู้คว้าชัยชนะในหมู่หุ่นยนต์ โดยวิ่งเข้าเส้นชัยภายในเวลา 2 ชั่วโมง 40 นาที 42 วินาที แม้จะยังห่างไกลจากเวลาของมนุษย์ที่เข้าเส้นชัยภายในราว 1 ชั่วโมง 2 นาที ซึ่งทำโดย จาค็อบ คิปลิโม นักวิ่งชาวยูกันดา แต่การที่เทียนกงวิ่งจบได้โดยเปลี่ยนแบตเตอรี่เพียง 3 ครั้งตลอดการวิ่งระยะทาง 21 กิโลเมตร ถูกมองว่าเป็นความสำเร็จที่น่าจับตา
ถัง เจียน (Tang Jian) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์กล่าวว่า “ผมไม่อยากจะโอ้อวด แต่ผมคิดว่าไม่มีบริษัทหุ่นยนต์ในตะวันตกที่สามารถเทียบความสำเร็จทางการกีฬาของเทียนกงได้”
การพัฒนาเทียนกงต้องใช้เทคโนโลยีสำคัญหลายอย่าง เช่น ข้อต่อขนาดกะทัดรัดที่ทนความร้อน ระบบควบคุมการเคลื่อนไหวที่แม่นยำ และอัลกอริทึมหลักที่แข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถวิ่งจนจบการแข่งขันได้
อย่างไรก็ตาม นักพัฒนายืนยันว่าความสำเร็จของเทียนกงไม่ใช่แค่การเข้าเส้นชัย แต่คือการพิสูจน์ว่าอัลกอริธึมที่จำลองการวิ่งของมนุษย์นั้นเริ่มทำงานได้จริงภายใต้สภาพแวดล้อมจริง
จีนเร่งปั้นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นเสาหลักเศรษฐกิจใหม่ :
รัฐบาลจีนประกาศชัดเจนว่า หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์เป็นกลยุทธ์แนวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าว่าจะผลิตหุ่นยนต์ในระดับแมสภายในปี 2570 ขณะนี้บริษัทจีนอย่างยูนิทรีโรโบติกส์ (Unitree Robotics) กำลังเร่งพัฒนาหุ่นยนต์ราคาประหยัด เช่นรุ่น G1 ที่เปิดตัวด้วยราคาเพียง 99,000 หยวน (ราว 13,500 ดอลลาร์) ซึ่งต่ำกว่าหุ่น Optimus ของเทสลาที่คาดว่าจะอยู่ราว 20,000–30,000 ดอลลาร์ และบริษัทก็ยังมีแผนจะจัดกิจกรรมแข่งขันชกมวยของหุ่นยนต์ถ่ายทอดสดทั่วโลกอีกด้วย
จากรายงานของกลุ่มสถาบันวิจัยรวม 10 แห่ง คาดว่าจีนจะผลิตหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ได้มากกว่า 10,000 ตัวภายในปี 2568 สร้างรายได้รวมกว่า 8.24 พันล้านหยวน โดยมีแนวโน้มว่าหุ่นยนต์เหล่านี้จะเริ่มเข้าสู่สายการผลิตรถยนต์ การจัดเรียงสินค้า และการขนส่งภายในคลังสินค้า
ดังนั้น Beijing E-Town Half Marathon and Humanoid Robot Half Marathon 2025 ไม่ใช่แค่งานวิ่งธรรมดา แต่คือสนามทดสอบเชิงกลยุทธ์ที่สะท้อนทิศทางการลงทุนใหญ่ของจีน ที่ต้องการปั้น “หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์” ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมหลัก
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 21 เมษายน 2568