จีนขู่ ประเทศไหนเจรจา "ทรัมป์" ทำจีนเสียประโยชน์ เตรียมเจอมาตรการหนัก
จีนเตือนประเทศที่เข้าข้างสหรัฐเจรจาการค้าโดยสร้างความเสียหายต่อจีน เตรียมเจอมาตรการตอบโต้ขั้นเด็ดขาด ท่ามกลางสงครามการค้าระลอกใหม่ที่โลกจับตา
กระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์เตือนประเทศที่กำลังเจรจาทางการค้ากับสหรัฐว่า หากการเจรจานั้นเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายลดบทบาทหรือผลประโยชน์ของจีน จีนจะดำเนินมาตรการ "ตอบโต้แบบเฉียบขาดและสมมาตร" ทันที โดยไม่ลังเล
แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นการตอบโต้ต่อรายงานข่าวที่ระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเตรียมใช้มาตรการกดดันประเทศต่างๆ เพื่อให้ลดความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน แลกกับการได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ท่าทีนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนแรงจากปักกิ่งว่า ไม่อาจยอมรับได้หากมีใครแลกผลประโยชน์ส่วนตนในระยะสั้นกับความเสียหายที่จีนต้องแบกรับ
"การเอาใจจะไม่สร้างสันติ การประนีประนอมจะไม่ได้รับความเคารพ และการแสวงหาผลประโยชน์ชั่วคราวบนความเสียหายของผู้อื่นก็ไม่ต่างจากการ ‘ลอกหนังเสือ’ สุดท้ายก็จะพังพินาศกันทั้งสองฝ่าย" แถลงการณ์ของจีนระบุไว้อย่างตรงไปตรงมา
สถานการณ์นี้เกิดขึ้นในจังหวะที่สหรัฐกำลังใช้ยุทธศาสตร์กดดันใหม่ โดยประกาศหยุดการเก็บภาษีนำเข้าระยะเวลา 90 วันสำหรับประเทศคู่ค้าอื่นๆ เหลือเพียงอัตรา 10% ทั่วกระดาน ยกเว้น “จีน” ที่ยังถูกเก็บในอัตราสูงถึง 245% ขณะที่จีนก็ตอบโต้ด้วยภาษีในระดับ 125% สำหรับสินค้าสหรัฐ การปะทะในรูปแบบภาษีแบบนี้เป็นผลพวงจากแคมเปญ "วันปลดแอก" ของทรัมป์ ที่มุ่งจะฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศและสร้างแรงจูงใจทางภาษีในอนาคต
สื่อต่างประเทศต่างรายงานตรงกันว่า คณะทำงานของทรัมป์ต้องการใช้การเจรจากับกว่า 70 ประเทศ เป็นเครื่องมือต่อรองให้ประเทศเหล่านั้นลดหรือเลิกนำเข้าสินค้าจากจีน หรือแม้แต่ลงโทษจีนทางเศรษฐกิจด้วยตนเอง ซึ่งจีนก็ออกมาประกาศว่า “หากเกิดสถานการณ์เช่นนี้ จีนจะไม่ยอมรับอย่างเด็ดขาด และจะใช้มาตรการตอบโต้ที่เหมาะสม”
ในขณะที่บางประเทศเริ่มเจรจาเพื่อขอลดภาษีจากสหรัฐ จีนเองก็เคลื่อนไหวเช่นกัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินสายเยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมส่งสารให้ประเทศพันธมิตรลุกขึ้นต่อต้าน “การกลั่นแกล้งฝ่ายเดียว” โดยระบุว่า “ไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้าหรือสงครามภาษี”
สถานการณ์ที่หลายประเทศต้องเผชิญขณะนี้ คือการถูกบีบให้เลือกระหว่างสองยักษ์ใหญ่ จีนซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าสำคัญ และสหรัฐ ซึ่งยังคงเป็นตลาดส่งออกที่ทรงอิทธิพล หลายประเทศเริ่มรู้สึกลำบากใจ เช่น เวียดนามที่เป็นทั้งศูนย์กลางการผลิตเองและเส้นทางที่จีนใช้หลบเลี่ยงภาษีสหรัฐในอดีต หรือประเทศในเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับวอชิงตัน
ในเชิงตัวเลข ข้อมูลจาก Lowy Institute ชี้ว่า ในปี 2023 มีถึง 70% ของประเทศทั่วโลกที่นำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าสหรัฐ โดยจีนเป็นคู่ค้าหลักของกว่า 60 ประเทศทั่วโลก มากกว่าสหรัฐถึงเกือบเท่าตัว (ที่มีเพียง 33 ประเทศ) การเติบโตของจีนในฐานะศูนย์กลางการค้าสำคัญของโลกเริ่มตั้งแต่เข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2001 และยิ่งเติบโตจากนโยบายอุตสาหกรรมที่เน้นการปกป้องภายในประเทศ
แม้ในช่วงสงครามการค้ารอบแรกของทรัมป์เมื่อปี 2018 จะมีการเก็บภาษีสินค้าจีนมากกว่า 125,000 ล้านดอลลาร์ แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือประเทศต่าง ๆ หันไปค้าขายกับจีนมากยิ่งขึ้น ตัวเลขจาก Lowy Institute ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2023 มีประเทศที่ค้าขายกับจีนมากกว่าสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 139 ประเทศเป็น 145 ประเทศ โดยในปี 2001 มีเพียง 15% ของประเทศที่พึ่งพาการค้ากับจีนมากกว่าสหรัฐ แต่ในปี 2023 ตัวเลขนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 70%
แม้ในบางกรณี เช่น เม็กซิโก ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐ อาจจำเป็นต้องลดการค้ากับจีน แต่ในความเป็นจริง ระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกต่างผูกโยงกับจีนอย่างแนบแน่น เช่น ยุโรปที่มีการขาดดุลการค้ากับจีนสูงถึง 396,000 ล้านยูโรในปี 2022 หรือประเทศกำลังพัฒนาอย่างบังคลาเทศ กัมพูชา ไนจีเรีย และซาอุดีอาระเบีย ที่การนำเข้าจากจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 20-25%
ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์อย่าง Alicia Garcia-Herrero จากธนาคาร Natixis กล่าวว่า “นโยบายการค้าของทรัมป์นั้นมองสั้นเกินไป” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่า จีนกลายเป็นผู้ส่งออกสินค้าเชิงกลยุทธ์ในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่แร่ธาตุหายากไปจนถึงชิปอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในโลกแทบไม่สามารถแยกออกจากระบบการผลิตของจีนได้
การใช้ “ไม้แข็ง” บีบให้ประเทศอื่นเลือกระหว่างจีนหรือสหรัฐอาจใช้ได้เฉพาะกับประเทศที่มีฐานทัพสหรัฐตั้งอยู่เท่านั้น แต่สำหรับประเทศส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ยิ่งทรัมป์กดดันมากเท่าไร ก็ยิ่งผลักพวกเขาให้หันกลับมาอยู่ข้างจีนมากขึ้นเท่านั้น
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 22 เมษายน 2568