ธุรกิจวางแผนการเงิน หนึ่งเครื่องมือพาคนไทยพ้นวิกฤต
ขณะนี้มีหลากหลายปัจจัยภายในและภายนอก รุมเร้าธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ซึ่งปัจจัยหลักคือความไม่แน่นอนจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นอีก จะรุนแรงอีกแค่ไหน และความไม่เชื่อมั่นต่อการรับมือแก้ปัญหาของหน่วยงานกำกับดูแล แล้วเราๆ จะรับมือและวางแผนบริหารจัดการการเงินอย่างไรที่ให้อยู่รอดได้
หนึ่งมุมมองจาก วิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ระบุว่า การปรับตัวในด้านการเงินในปัจจุบัน เนื่องจากประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤตจากกำแพงภาษีสหรัฐ รวมถึงจีนที่ประกาศมาตรการสวนกลับด้วย ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นในการดำเนินชีวิตประชาชนจะต้องเริ่มต้นเก็บออมเงินไว้รับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันในอนาคตมากขึ้น โดยเงินออมฉุกเฉินเก็บเผื่อไว้ใช้ใน 3 เดือนข้างหน้าไม่เพียงพอแล้ว จะต้องเก็บไว้อย่างน้อย 6 เดือนสำหรับผู้มีรายได้ประจำ
ส่วนผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำต้องเก็บออมไว้อย่างน้อย 12 เดือน รวมถึงผู้ประกอบการในธุรกิจที่มีความเสี่ยงต้องพึ่งพากับอาชีพใดอาชีพหนึ่งเป็นหลัก อาทิ ภาคการท่องเที่ยว เป็นกลุ่มธุรกิจโรงแรม ทัวร์นำเที่ยว ร้านขายของฝาก ของที่ระลึกต่างๆ จะต้องเก็บเงินฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 12 เดือนเช่นกัน เหมือนภาพในช่วงโควิด-19ที่มีบทเรียนใหญ่ให้ได้เห็นกันแล้วว่า เงินสดเสริมสภาพคล่องเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก
ในส่วนของพนักงานประจำ มีคำแนะนำคือ จะต้องกอดรายได้จากงานประจำไว้ให้แน่นที่สุด อย่าหุนหันพลันแล่น เพราะถือเป็นตัวหลักในการสร้างรายได้ให้เราสามารถดำเนินชีวิตต่อไป สร้างความมั่นคงให้กับการเงิน ส่วนพันธะที่เป็นอุปสรรคทำให้เราเดินไปสู่ความมั่นคงทางการเงินไม่ได้คือการก่อหนี้ แม้ความจริงการก่อหนี้จะไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่จะต้องเป็นการก่อหนี้จากความจำเป็นจริงๆ ไม่ใช่เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการหรือความยากเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น ไม่ต้องอยากได้อยากมีเหมือนคนอื่น หรือเป็นการก่อหนี้แบบไม่คิด โดยอยากให้คนไทยมองภาพอนาคตตัวเองจากปัจจุบันว่า หากในอนาคตเราตกงานหรือไม่มีรายได้จากทางอื่นเข้ามา จะนำเงินจากส่วนใดมาใช้ดูแลชีวิตในช่วงวัยเกษียณ ถือเป็นการวางแผนการเงินระยะยาวที่ต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีการวางแผนการเงินผ่านการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพียง 3% เท่านั้น จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ
ในด้านการลงทุนอย่างตลาดหุ้นไทย ประเมินผลกระทบไม่ได้เป็นวงกว้างมากขนาดนั้น เนื่องจากดัชนีหุ้นไทยในภาพรวมรับรู้ข่าวไปแล้วตั้งแต่ช่วงที่สหรัฐประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทยในอัตรา 36-37% ในก่อนหน้านี้ รวมถึงประเทศอื่นทั่วโลกด้วย การลงทุนจึงต้องพิจารณาเป็นรายกลุ่ม หมวดหมู่ธุรกิจมากกว่า เพราะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในหลายอุตสาหกรรม ทำให้บางเซ็กเตอร์อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ตัวที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นหมวดที่มีการนำเข้าและส่งออกที่ต้องเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐ ซึ่งต้องมาประเมินอีกครั้งว่าจะกระทบมากหรือน้อยอย่างไร โดยความจำเป็นในตอนนี้นักลงทุนจะต้องรอให้ฝุ่นหายตลบก่อนจากนั้นจึงทำการพิจารณาพอร์ตการลงทุนของตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความเสี่ยงในปัจจุบันมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม พบว่าประเทศไทยหรือคนไทย มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า นักวางแผนการเงินมีไว้สำหรับให้คนรวยเท่านั้น ส่งผลให้ในอดีตมีการใช้บริการนักวางแผนการเงินน้อยมาก แม้ปัจจุบันมีการใช้บริการเพิ่มขึ้นก็ตาม เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่มีรายได้ทุกคน จำเป็นต้องมีการวางแผนทางการเงิน ทั้งวางแผนการใช้จ่าย วางแผนการออม วางแผนป้องกันความไม่แน่นอน จากผลสำรวจผู้ใช้บริการใน 15 ประเทศทั่วโลก พบว่า 84% ของลูกค้าที่ใช้บริการ เห็นว่าการใช้บริการกับนักวางแผนการเงิน CFP ให้ประโยชน์คุ้มค่าเกินกว่าค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้นักวางแผนการเงิน
ดังนั้น สมาคมนักวางแผนการเงินไทยยังมุ่งส่งเสริมและเพิ่มจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP และเดินหน้าให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ ถึงความสำคัญของการวางแผนการเงินให้กับคนไทยทุกช่วงวัย โดยเริ่มตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาจนถึงวัยเกษียณ ผ่านกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ เช่น โครงการ Road to CFP Professional สนับสนุนให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องวางแผนการเงินในมหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาชิกสมาคมเร่งสร้างนักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT เพื่อรองรับความต้องการ ด้านการวางแผนการเงินในกลุ่มลูกค้าสถาบันการเงิน โครงการ Workshop การวางแผนการเงินสำหรับมนุษย์เงินเดือน เริ่มต้นจากพนักงานในองค์กร และข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. หรือร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต.ให้ความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินสำหรับคนวัย 50+ เพื่อเตรียมพร้อมเกษียณอย่างมั่งคั่งมั่นคงและมีความสุข อีกทั้งร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแพร่ความรู้เรื่องการวางแผนการเงิน ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ยังเตรียมแผนส่งเสริมบุคลากรให้มีความรู้เรื่องการวางแผนการเงินหลังเกษียณ โดยเตรียมเปิดหลักสูตร Post Retirement Specialist เพื่อวางแผนการเงินและชีวิตหลังเกษียณรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของคนไทย ร่วมกับแบงก์ชาติจัดอบรมหมอหนี้อาสา
วิโรจน์ย้ำว่า ผู้ที่มีรายได้ทุกคน จำเป็นต้องวางแผนการเงิน เพราะทุกอย่างรอบตัวล้วนเกี่ยวข้องกับเงินในกระเป๋าของเรา ตั้งแต่เกิดแก่เจ็บตาย ค่าทำคลอด ค่าเทอมการศึกษา ซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่งงาน มีลูก จนถึงการเตรียมเงินใช้จ่ายหลังเกษียณ นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนในชีวิตอื่นๆ ความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ความไม่แน่นอนในการงานและธุรกิจ จนถึงบั้นปลายชีวิต ทุกอย่างต้องใช้เงิน ขณะที่ราคาสินค้าและบริการต่างๆ ล้วนปรับตัวขึ้นทุกปี รวมทั้งราคาที่อยู่อาศัย ถือเป็นปัจจัยสี่ โดยข้อมูลอ้างอิงจากดัชนีราคาที่อยู่อาศัยและดัชนีราคาที่ดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ย้อนหลัง 10 ปีพบว่าปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 28-46% จึงทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจและเรียนรู้เรื่องการวางแผนทางการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดี
ประเทศไทยมีจำนวนนักวางแผนการเงิน 703 คนสูงเป็นอันดับ 19 จาก 26 ประเทศ ตามหลังสิงคโปร์ อันดับ 18 มีนักวางแผนการเงิน 887 คน และมาเลเซีย อันดับ 14 มี 2,615 คน ขณะที่สหรัฐ มีจำนวนสูงสุดอันดับ 1 จำนวน 103,093 คน สำหรับไทยจึงเป็นทั้งโอกาสสร้างอาชีพและตระหนักรู้ถึงแผนการเงินที่ยั่งยืน หากเริ่มตั้งแต่วันนี้
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 22 เมษายน 2568