ทั่วโลกจับตา ถ้าสหรัฐฯ ถอนตัวจาก IMF–ธนาคารโลก ใครได้ ใครเสีย
การประชุม IMF และธนาคารโลกที่วอชิงตันปีนี้ตึงเครียด เมื่อสหรัฐฯ อาจถอนตัวจากสองสถาบันการเงินสำคัญ ขณะที่รัฐมนตรีคลังคนใหม่ “สก็อตต์ เบสเซนต์” ยังไม่เปิดจุดยืน
สัปดาห์นี้ กรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ ต้อนรับผู้นำทางการเงินระดับโลกนับร้อยคน เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ท่ามกลางความพยายามของหลายประเทศในการผลักดันข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ และวาระสำคัญอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนโครงการพัฒนา การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และการบรรเทาภาระหนี้ของประเทศยากจน
ในปีนี้ หัวข้อที่แย่งพื้นที่สนใจมากที่สุดกลับกลายเป็น “ภาษีศุลกากร” ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้เป็นเครื่องมือเขย่าระบบการค้าโลก โดยเฉพาะนโยบายภาษีนำเข้าระดับสูงสุดถึง 145% ที่มุ่งเป้าไปยังจีน และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของตลาดทั่วโลก จนก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในตลาดหุ้นและค่าเงินสหรัฐฯ
ในเวทีเดียวกันนี้ ยังมีคำถามใหญ่ที่ยังไม่มีคำตอบ นั่นคือ “ท่าทีของสหรัฐฯ ต่อ IMF และธนาคารโลกคืออะไร” โดยจุดสนใจสำคัญอยู่ที่บุคคลเดียว “สก็อตต์ เบสเซนต์” รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ และหัวหน้าทีมเจรจาภาษีทรัมป์ ซึ่งหลายฝ่ายจับตาว่าเขาจะเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกับนโยบายที่ปรากฏใน “Project 2025” หรือไม่
ถ้าสหรัฐฯ ถอนตัวจาก IMF - ธนาคารโลก จะเกิดอะไรขึ้น :
หลังจากถอนสหรัฐฯ ออกจากความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และองค์การอนามัยโลก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะถอนประเทศออกจากสถาบันระหว่างประเทศอื่นเพิ่มเติมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “Project 2025” ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวนโยบายสำหรับวาระประธานาธิบดีสมัยที่สองของเขาที่จัดทำโดย มูลนิธิแนวคิดอนุรักษนิยม Heritage Foundation ได้เสนอให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกแทนที่จะยอมตามข้อเรียกร้องของทรัมป์ ประเทศสมาชิกควรตระหนักว่าการถอนตัวของสหรัฐฯ จะเป็นผลเสียต่อสหรัฐฯ เองเป็นหลัก และควรใช้จุดนี้ในการต่อรองตามเงื่อนไขของตนเอง
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ทรัมป์สั่งให้มีการทบทวนอย่างครอบคลุมเป็นเวลา 180 วันต่อองค์การระหว่างประเทศทั้งหมดที่สหรัฐฯ เป็นสมาชิกและให้การสนับสนุน รวมถึง "อนุสัญญาและสนธิสัญญาทั้งหมดที่สหรัฐฯ เป็นภาคี" คำสั่งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของ Project 2025 ซึ่งมองว่า IMF และธนาคารโลกเป็น "คนกลางที่มีค่าใช้จ่ายสูง" ที่ "สกัดกั้น" เงินทุนจากสหรัฐฯ ก่อนที่จะไปถึงโครงการในต่างประเทศ หากทรัมป์ปฏิบัติตามแนวทางนี้ การถอนตัวของสหรัฐฯ จะใกล้เข้ามาทุกที
หลายฝ่ายมองว่าแนวคิดนี้ผิดพลาดอย่างร้ายแรง เพราะหากสหรัฐฯ ถอนตัวจริง จะเท่ากับเสียอำนาจต่อรองระดับโลกอย่างที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมผู้นำของสถาบัน การชี้นำทิศทางเงินกู้ หรือการใช้เครื่องมือนี้ในการสนับสนุนพันธมิตรและกดดันคู่แข่งอย่างเป็นรูปธรรม
ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ IMF และธนาคารโลกที่อยู่ใกล้กับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง และรัฐสภาสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ สหรัฐฯ รักษาการควบคุมต่อสถาบันเหล่านี้มาโดยตลอด และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและผู้นำองค์กรให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศ
สหรัฐฯ เป็นผู้แต่งตั้งประธานธนาคารโลกเสมอ อนุมัติผู้แทนจากยุโรปให้เป็นผู้นำ IMF และเลือกผู้ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการของกองทุน ทั้ง IMF และธนาคารโลกต้องการเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 85% ในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ซึ่งทำให้สหรัฐฯ เป็นประเทศเดียวที่สามารถ “วีโต้” ได้โดยลำพัง
งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นรูปแบบการปล่อยกู้ของ IMF และธนาคารโลก สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด สหรัฐฯ ใช้ IMF เป็นเหมือนแนวหน้าเพื่อปกป้องเศรษฐกิจของตนอยู่เสมอ
ในวาระแรกของเขาทรัมป์ IMF ได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือ 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา เมาริซิโอ มาครี ในขณะนั้น ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของทรัมป์ ซึ่งถือเป็นโครงการใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของ IMF (เงินทั้งหมดมาจากประเทศสมาชิกของกองทุน)
ทำนองเดียวกัน สหรัฐฯ ใช้ธนาคารโลกเพื่อสร้างความมั่นคงและพันธมิตรทางเศรษฐกิจ รับมือกับภัยก่อการร้าย และสนับสนุนการฟื้นฟูหลังสงครามในประเทศต่าง ๆ เช่น อิรัก และอัฟกานิสถาน หลังจากที่สหรัฐฯ นำทัพเข้าโจมตี
สิ่งสำคัญที่สุดคือ ค่าใช้จ่ายจริงของการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ กับ IMF และธนาคารโลกนั้นต่ำกว่าที่หลายคนเข้าใจ กระทรวงการคลังจะประเมินผลกระทบทางการเงินของการมีส่วนร่วมนี้ในแต่ละปี โดยในปีงบประมาณ 2023 รายงานผลกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจำนวน 407 ล้านดอลลาร์
ธนาคารโลกก็มีโอกาสสำคัญในการใช้ทรัพยากรของสหรัฐฯ หน่วยหลักของกลุ่มธนาคารโลก (ซึ่งมีอีกสี่หน่วยงานย่อย) คือ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (IBRD) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารนี้ไม่ได้มาจากสหรัฐฯ แต่เป็นของประเทศที่กู้เงินรายใหญ่ เช่น อินเดีย ตุรกี อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา และฟิลิปปินส์
โดยรายได้จากการชำระคืนเงินกู้ และกำไรสุทธิในอดีตของ IBRD เป็นแหล่งเงินทุนหลักสำหรับสำนักงานใหญ่ เงินเดือนพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ (ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.) ต่างจากสถาบันพหุภาคีอื่น ๆ IBRD ไม่พึ่งพาการบริจาคโดยตรงจากประเทศสมาชิก แต่ระดมทุนโดยการออกพันธบัตรและปล่อยกู้ให้ประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่
ในปี 2024 IBRD ออกพันธบัตรมูลค่า 52.4 พันล้านดอลลาร์ (52,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แม้ว่าพันธบัตรจะได้รับการค้ำประกันจากประเทศสมาชิก แต่ IBRD ไม่เคยใช้เงินทุนส่วนที่สามารถเรียกได้ (callable capital) ทำให้ประเทศผู้ถือหุ้นเพียงแค่ต้องวางทุนชำระแล้ว (paid-in capital) ในสัดส่วนที่น้อยมาก
สำหรับสหรัฐฯ ตัวเลขนี้อยู่ที่ 3.7 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณ 19% ของเงินอุดหนุน 20,000 ล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ จ่ายให้กับ SpaceX ของอีลอน มัสก์ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
สหรัฐฯ ยังมีการสนับสนุนธนาคารโลกในรูปแบบอื่นด้วย เช่น ปี 2018 รัฐบาลทรัมป์อนุมัติการเพิ่มทุน 7.5 พันล้านดอลลาร์ให้กับ IBRD ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ ก็ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอย่างมหาศาล เช่น การสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อหน่วยงานให้กู้แบบมีเงื่อนไขพิเศษของธนาคารโลกอย่าง International Development Association (IDA) เป็นไปแบบสมัครใจและมีการเจรจาทุก 3 ปี ซึ่งทำให้สหรัฐฯ มีอิทธิพลสูงต่อการปล่อยกู้ของ IDA
สรุปง่าย ๆ ว่า การถอนตัวจาก IMF และธนาคารโลกจะเป็นความผิดพลาดร้ายแรง ที่จะทำให้สหรัฐฯ สูญเสียอำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์ของระบบการเงินระหว่างประเทศ และโอกาสในการขับเคลื่อนผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของตน แต่ก็ยังมีบางคนในฝ่ายบริหารของทรัมป์ที่ดูจะสนใจแนวทางนี้อยู่
แม้ว่าสหรัฐฯ จะยังไม่ถอนตัวจากธนาคารโลก แต่หากหยุดสนับสนุนทางการเงิน ประเทศสมาชิกที่ถืออำนาจลงคะแนนเสียงรวมกัน 70% สามารถระงับสิทธิการออกเสียงของสหรัฐฯ ได้ เพราะไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีทางการเงิน หากการระงับนี้ยืดเยื้อเกิน 1 ปี สหรัฐฯ จะถูกตัดสิทธิจากการเป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติ เว้นแต่จะมีเสียงส่วนใหญ่ให้กลับเข้ามาใหม่
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 23 เมษายน 2568