ความยุ่งยากของอาเซียน ในท่ามกลาง "สงครามการค้า"
"สีจิ้นผิง" ผู้นำสูงสุดของจีน เดินทางเยือน 3 ชาติสมาชิกอาเซียนเมื่อสัปดาห์เศษที่ผ่านมา ตลอดการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการดังกล่าว ประธานาธิบดีจีน ไม่ได้เอ่ยถึงชื่อ "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีอเมริกาแม้แต่ครั้งเดียว กระนั้น ทุกคนก็สามารถคาดหมายได้ว่า ทรัมป์และมาตรการทางภาษีที่เป็นเหมือนการประกาศสงครามกับทั้งโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีน คือหัวข้อสำคัญที่เป็นหัวใจของการเดินทางเยือนครั้งนี้อย่างเด่นชัด
ที่เวียดนาม สีเชื้อเชิญให้ทางการฮานอยเข้าร่วมในการ “คัดค้านพฤติกรรมอันธพาลแต่เพียงฝ่ายเดียว” ที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ ส่วนที่มาเลเซีย ผู้นำจีนพูดถึง “สภาวะช็อก” ที่เกิดขึ้นกับ “ระเบียบโลก” และ “โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ” เช่นเดียวกับที่ในกัมพูชา ผู้นำจีนประกาศว่า พร้อมจะทำงานร่วมกับทางการพนมเปญ เพื่อต่อต้าน “การใช้อำนาจบาตรใหญ่” และร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน “การเผชิญหน้า” ครั้งนี้
ทั้งหมดนี้ไม่เพียงส่อนัยถึงทรัมป์และนโยบายทางภาษีของเขาอย่างชัดเจนเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงเจตนาที่จะขยายความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับบรรดาประเทศในภูมิภาคอาเซียนเหล่านี้อีกด้วย
ฟังดูเหมือนจะดี เพราะอย่างน้อย “อาเซียน” ก็ยังเป็นที่ต้องการ ซึ่งอาจสร้างโอกาสอันดีให้เกิดขึ้นได้ แต่ในเวลาเดียวกัน สิ่งที่อาจเป็นโอกาสอันดีนี้ ก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงควบคู่ขึ้นตามมาด้วยเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุที่ว่า ภายใต้สถานการณ์ของสงครามการค้ายืดเยื้อ อาเซียนเสี่ยงต่อการกลายเป็นตลาดระบายสินค้าราคาถูกที่ไม่สามารถส่งขายให้กับสหรัฐอเมริกาได้อีกต่อไปของจีน ซึ่งเสี่ยงต่อการทำลายอุตสาหกรรมเดียวกัน ทำลายการจ้างงานภายในท้องถิ่นไปโดยปริยาย
ยิ่งสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ยืดเยื้อออกไปนานเท่าใด แรงกดดันที่ทั้ง 2 ฝ่ายกระทำต่อชาติสมาชิกอาเซียนก็จะยิ่งทวีสูงขึ้นมากเท่านั้น ทำให้บรรดาชาติเล็ก ๆ ในอาเซียนทั้งหลายตกอยู่ในสภานะยุ่งยาก ลำบากหนักหนาสาหัสกว่าที่เคยเป็นมา
มองอย่างผิวเผิน มีสัญญาณส่อแสดงให้เห็นว่า การเดินทางครั้งนี้ของ สี จิ้นผิง ประสบความสำเร็จอยู่บ้าง มีการลงนามในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณูปโภค, เทคโนโลยี, การศึกษา และสาธารณสุข ร่วมกันมากกว่า 100 ความตกลง
นอกจากนั้นชาติอาเซียนที่เป็นเจ้าบ้าน ยังแสดงออกเป็นการยกย่อง ชื่นชมต่อท่าทีของจีนในครั้งนี้ ผู้สันทัดกรณีอย่าง “ลินน์ กว็อก” นักวิชาการจากสถาบันบรูกกิ้ง ระบุว่า ในท่ามกลางสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความท้าทาย สี จิ้นผิง แสดงให้เห็นถึงความมั่นคง และความเป็นมิตร อันเป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกาไม่มีให้ในขณะนี้ แม้แต่คนอย่าง เดวิด เชียร์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำเวียดนาม ถึงกับออกปากว่า จีนกำลังได้ประโยชน์มหาศาลจากนโยบายเศรษฐกิจแบบสะเปะสะปะของสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ลึกลงไปเบื้องหลังท่าทีเหล่านั้น บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเจ้าของกิจการธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน ล้วนแต่เป็นกังวลไม่น้อยว่า การขยายความสัมพันธ์ด้านการค้ากับจีนในยามนี้ อาจส่งผลกระทบทั้งต่อสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศของตน เช่นเดียวกันกับที่อาจส่งผลในเชิงลบในการเจรจาเพื่อต่อรองปัญหาภาษีศุลกากรกับทางการสหรัฐอเมริกาพร้อมกันไปด้วย
สถานการณ์ทำนองนี้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในบินห์ ดอง ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนาม ชานนครโฮจิมินห์ซิตี ที่ซึ่งโรงงานผลิตหลายแห่งเริ่มชะลอการผลิตลง ผู้จัดการโรงงานหลายแห่งยอมรับว่า ได้ตัดสินใจยกเลิกการทำงานล่วงเวลา และเริ่มปรับลดค่าจ้างลงบ้างแล้ว ในขณะที่อีกบางแห่ง ยอมรับเช่นกันว่า จำเป็นต้องประคับประคองระดับการผลิตเอาไว้ เพราะยังไม่ต้องการปลดคนงานทิ้งไปในตอนนี้
เจ้าของโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์รายหนึ่งในเวีดยนามยอมรับว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นถึงกับย่ำแย่ยิ่งกว่าเมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 ด้วยซ้ำไป โรงงานเฟอร์นิเจอร์บางโรง โดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตเพื่อการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ ยอดคำสั่งซื้อลดลงอย่างฮวบฮาบ ชนิดที่ว่า คนงานเพียงไม่ถึงครึ่ง ก็สามารถผลิตตามออร์เดอร์ได้แล้วในเวลานี้ ผู้จัดการโรงงานบางรายเชื่อว่า สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงมากขึ้นไปอีก
เมื่อผู้ผลิตจากจีนเดินทางมาถึง เพราะผู้ผลิตรายใหญ่เหล่านี้ล้วนมีห่วงโซ่การผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า จนสามารถผลิตสินค้าได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าผู้ผลิตทั่ว ๆ ไปในเวียดนาม
“ผู้ผลิตจากจีน ยิ่งเป็นรายใหญ่มากเท่าใด ก็ยิ่งสร้างปัญหาให้กับเวียดนามมากขึ้นเท่านั้น”
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ เมื่อปีที่แล้ว เวียดนามได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐอเมริการวม 123,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 1 ปีก่อนหน้าถึงเกือบ 20% ส่วนหนึ่งเกิดจากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทจีนเข้ามาผลิตในเวียดนามเพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีของทรัมป์ในสมัยแรก
อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่บริษัทผู้ผลิตจีนนำสินค้าเข้ามาสวมสิทธิเพื่อเลี่ยงภาษีแล้วส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ที่เรียกกันว่า “ทรานส์ชิปปิ้ง” ที่ทำเนียบขาวพยายามกำจัดให้หมดสิ้น อันเป็นที่มาที่ทางการเวียดนามเสนอต่อทรัมป์เมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า จะกวาดล้างการฉ้อฉลทางการค้าอย่างนี้ให้หมดสิ้นไป จนทางการจีนออกโรงเตือนว่า จีนจะ “ลงโทษ” ชาติใดก็ตามที่ไปทำความตกลงกับสหรัฐอเมริกา จนเป็นเหตุให้จีนต้องสูญเสียประโยชน์ในเวลาต่อมา
สิ่งที่มาเลเซียกังวล ต่างออกไปจากในเวียดนาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของมาเลเซียรายหนึ่งยอมรับว่า มาเลเซียพยายามโน้มน้าวให้จีนเปิดโอกาสในการแข่งขันให้กับบรรดาประเทศในอาเซียน ด้วยการยุติการอุดหนุนการส่งออก หรือเลิกกดค่าเงินหยวนให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้สินค้าจีนมีราคาถูกในตลาดโลก แต่ดูเหมือนยังไม่มีผลเป็นรูปธรรมออกมาให้เห็น
สิ่งที่เป็นที่คาดหวังก็คือ หวังว่าบรรดาความตกลงกว่า 100 ฉบับที่ทำกันขึ้นนั้น แม้จะไม่มีรายละเอียดใด ๆ แต่ก็หวังว่าจะมีอย่างน้อยบางส่วนสามารถเป็นจริงขึ้นมาได้ ซึ่งจะมีนัยในทางการเมืองให้เห็นว่า อาเซียนไม่ได้เข้าพบเพื่อเจรจากับทรัมป์แบบหมอบราบคาบแก้ว แต่ยังมีทางเลือกอื่นอยู่ด้วย
ในทางการเมือง ไม่มีชาติไหนในอาเซียนจะทุ่มเดิมพันทั้งหมดไว้กับจีนเพียงฝ่ายเดียว แต่ในทางเศรษฐกิจ คนแวดวงธุรกิจการค้ายอมรับตรงกันว่า อิทธิพลของจีนฝังรากลึกอยู่ในห่วงโซ่การผลิต จนทำให้การตัดจีนออกไป หรือแม้แต่จะเอาจริงกับการลดอิทธิพลของจีนลงยังคงเป็นความท้าทายที่เป็นไปได้ยากเหลือเกิน ทุกอย่างยังต้องใช้เวลา
แม้แต่กำแพงภาษีของทรัมป์ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่า จีนคือผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดไปได้ในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 23 เมษายน 2568