ผู้ส่งออกจีนเตรียมลา "ตลาดสหรัฐ" ถาวร หากดื้อดึง ก็มีแต่จะตายเร็วขึ้น
ภายใต้ภาษีทรัมป์ 145% "ผู้ส่งออกจีน" จำนวนมากเริ่มโบกมือลาตลาดสหรัฐอย่างถาวร เสี่ยงต้องปิดโรงงานในอีกไม่กี่เดือน ขณะที่ "ผู้บริโภคสหรัฐ" จะเผชิญราคาของที่แพงขึ้น และขาดแคลนสินค้าสำคัญในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ด้วยภาษีทรัมป์ที่เรียกเก็บสินค้าจากจีนถึง 145% โรงงานที่ผลิตสินค้าต่างๆ เช่น เครื่องชงกาแฟ และกางเกงโยคะของจีนจำเป็นต้องหยุดส่งออกไปยังสหรัฐ และหยุดสายการผลิตเหล่านั้น โดยเหลือการทำงานเพียง “3-4 วันต่อสัปดาห์” เท่านั้น
แม้ทรัมป์จะส่งสัญญาณว่า อัตราภาษีต่อจีนจะไม่อยู่ในระดับสูงเช่นนี้ตลอดไป แต่ผู้ส่งออกบางรายที่หวาดวิตก ก็เริ่มวางแผนถอนตัวออกจากตลาดสหรัฐ “อย่างถาวร” และหันไปมองภูมิภาคอื่น เช่น ตะวันออกกลางแทน
“ขณะนี้ผู้ส่งออกกำลังพยายาม ‘เอาตัวรอด’ จากวิกฤติในปัจจุบัน” หวัง ซิน ประธานสมาคมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแห่งเซินเจิ้น ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ส่งออกประมาณ 3,000 รายกล่าว
“ธุรกิจต่างๆ กำลังหาทางสร้างรายได้เงินสด เช่น การขายสินค้าคงคลังในราคาที่สูงขึ้น และการยกเลิกสัญญาเช่าคลังสินค้าในสหรัฐ” เธอกล่าว
หนึ่งในผู้ส่งออกเหล่านั้นคือ ผู้ค้าปลีกจากนครกว่างโจว ซึ่งจำหน่ายชุดชั้นใน และกางเกงโยคะผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Amazon, Temu และ Shein โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา บริษัทได้ตัดสินใจหยุดส่งสินค้าไปยังสหรัฐทั้งหมด และปรับขึ้นราคาสินค้ายอดนิยมบางรายการมากถึง 30% เพื่อสร้างรายได้เงินสดเพิ่มเติม
“เรามีการประชุมฉุกเฉินหลายครั้งในช่วงปลายเดือนมีนาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับก้าวต่อไปของเรา ข้อสรุปก็คือ เราจะเลิกพยายามสู้ในตลาดสหรัฐแล้ว” หวง หลุน ผู้จัดการฝ่ายขายกล่าว
สถานการณ์ยากลำบากของผู้ส่งออกจีนเช่นนี้ อาจส่งผลให้ผู้บริโภคในสหรัฐต้องเผชิญกับ “ราคาสินค้าที่สูงขึ้น” และ “การขาดแคลนสินค้าสำคัญ” ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า แนวโน้มที่เลวร้ายเช่นนี้ยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากขึ้นว่า สหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หากทำเนียบขาวไม่ยอมถอยจากนโยบายขึ้นภาษีที่ขู่ว่าจะนำมาใช้
ด้านจีนเอง ก็เผชิญกับ “ความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจ” เช่นกัน เมื่อตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดหยุดชะงัก โรงงานจำนวนมากจึงลดการผลิตลงเหลือเพียงสามถึงสี่วันต่อสัปดาห์ โดยอ้างอิงจากผลสำรวจอุตสาหกรรมล่าสุดที่จัดทำโดยสมาคมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแห่งเซินเจิ้น
“ด้วยภาระค่าใช้จ่ายจากเงินกู้ธนาคาร และเงินเดือนพนักงาน จะมีคลื่นของการปิดโรงงาน และการเลิกจ้างแรงงานเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” หวัง ซิน ซึ่งเป็นประธานสมาคมอีคอมเมิร์ซฯ กล่าว
ด้านเจนนี่ หวัง พนักงานฝ่ายขายของบริษัทผู้ผลิตผ้าม่านในเมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง กำลังพยายามกระจายตลาดออกไปนอกเหนือจากสหรัฐ แม้ว่าลูกค้าปัจจุบันถึง 90% ซึ่งเป็นธุรกิจที่หยุดชะงักลงอย่างกะทันหันจะอยู่ในตลาดสหรัฐก็ตาม
เธอกล่าวว่า บริษัทจะพิจารณากลับมาส่งออกไปยังสหรัฐอีกครั้ง ก็ต่อเมื่อสถานการณ์ภาษีมีความชัดเจน แต่จนกว่าจะถึงเวลานั้น บริษัทกำลังมองหาโอกาสในตลาดอื่น เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง
“ตอนที่ภาษีถูกปรับขึ้นเป็น 54% ผู้คนก็แทบจะไม่เหลือกำไรอยู่แล้ว แต่ก็ยังตัดสินใจอยู่ต่อ และใช้เวลานั้นหาตลาดใหม่ด้วยเงินสดที่ยังพอได้จากตลาดสหรัฐ” หวังกล่าว “แต่พอขึ้นเป็น 125% แล้วก็ 145% ผู้คนก็เลือกจะถอนตัว เพราะถ้ายังดื้อดึงอยู่ต่อในตลาดสหรัฐ ก็มีแต่จะตายเร็วขึ้น”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 24 เมษายน 2568