ทรัมป์ 2.0 เกมสร้างสมดุลใหม่ มองโอกาสตั้ง "กติกาการค้าโลก"
การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าผ่านนโยบายอัตราภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Trade and Tariffs) ของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับประเทศคู่ค้าที่มีความได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา เป็นการประกาศเก็บอัตราภาษีพื้นฐาน 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก และ 90 ประเทศบางส่วนที่ต้องเสียภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่มีผลเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ก่อน 7 วันถัดมาประกาศเลื่อนบังคับใช้ออกไป 90 วันในวันที่ 9 เมษายน ส่งผลให้เกิดความผันผวนกับเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทย จนเกิดแนวคิดว่า เศรษฐกิจแบบเสรี (Globalization) ภายใต้การบริหารจัดการขององค์การการค้าโลกกำลังจะพลิกโฉมสู่การค้าแบบผูกขาด และกีดกันทางการค้ามากขึ้น
เรื่องนี้ อภิชาติ เกษมกุลศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า “มาตรการภาษีที่สหรัฐนำมาใช้ เป็นเพียงเครื่องมือที่ต้องการสร้างความสมดุลให้กับเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ต้องการสร้างงาน ปรับกระบวนการผลิต เพื่อให้เศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตามมาตรการที่นำมาใช้อาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามที่สหรัฐอเมริกาต้องการ เพราะมีหลายปัจจัยที่สหรัฐอเมริกาไม่สามารถที่จะควบคุมได้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา พึ่งพากระบวนการผลิตภายนอกมากกว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์คิด
สุดท้ายแล้ว ภายใน 90 วัน เป็นช่วงเวลาของการเจรจาและการเดินเกมการค้าที่จะสร้างสมดุลใหม่ภายใต้กรอบกติกาการค้าโลก ที่ยังคงเป็นตลาดเสรี แต่จะมีการเจรจาที่เข้มข้นในระดับทวิภาคีมากขึ้น 90 วันนี้ เป็นช่วงเวลาหาทางลงของทรัมป์ ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาของรัฐบาลทั้ง 180 ประเทศ รวมทั้งไทย ที่จะต้องหาแนวทางในการบริหารจัดการการค้ากับประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในประเทศ ในการบริหารจัดการให้สามารถก้าวข้ามผ่านเกมการค้าในช่วงของการสร้างสมดุลใหม่ไปให้ได้”
‘ทรัมป์’เขย่า‘การค้าเสรี’สู่กติกาใหม่ :
อภิชาติขยายความอีกว่า “แนวคิดที่การค้าเสรีจะยังคงอยู่ แต่จะมีการเปลี่ยนกฎกติกาใหม่ที่สนองตอบกับความต้องการของทั้งสหรัฐและจีน ที่เป็นยักษ์ใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ภายหลังการประกาศขึ้นภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบแต่ประเทศคู่ค้าของสหรัฐ ที่ถูกขึ้นภาษีเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการภายในของประเทศสหรัฐ อย่างกรณีที่ธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ทั้งวอลมาร์ท โฮมดีโปต์ โลวส์ และทาร์เก็ต เข้าพบประธานาธิบดีทรัมป์ เพราะสินค้ามากกว่า 50% ในร้านค้าเหล่านี้มาจากจีน การขึ้นภาษีกระทบกับการค้าปลีกภายในร้านและกระทบกับวิถีชีวิตของคนอเมริกัน สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน พึ่งพาการค้ากับคู่ค้าต่างชาติมากกว่าที่คิด
“ผมมองว่า 90 วันที่ประธานาธิบดีทรัมป์เลื่อนการขึ้นภาษีออกไป เป็นช่วงเวลาทองสำหรับทุกประเทศในการวิเคราะห์โอกาสของตัวเอง และกำหนดท่าทีในการเจรจากับสหรัฐ จะลดภาษีตัวไหนที่กระทบกับผู้ผลิตภายในประเทศให้น้อยที่สุด และสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับสหรัฐ
นอกจากการลดภาษีแล้ว ต้องไปวิเคราะห์ว่า นอกจากมาตรการด้านภาษีแล้ว ยังมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariffs Barrier) ที่แต่ละประเทศมีกับประเทศสหรัฐ ที่ต้องมาทบทวนว่าจะมีการปรับแก้ไข เพื่อใช้ในการเจรจาต่อรอง
ผมมองว่า สำหรับไทย ไม่ต้องรีบที่จะเข้าไปเจรจา แต่รอดูจังหวะ และติดตามการเจรจาของประเทศต่างๆ กับสหรัฐอเมริกา เพราะผมเชื่อว่าใน 90 ประเทศ ต้องมีประเทศที่มีปัญหาคล้ายกับเรา ผลการเจรจาของประเทศเหล่านั้นกับสหรัฐอเมริกา จะเป็นแนวทางในการเจรจาของเรา สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ เตรียมข้อมูล ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแต่ละภาคธุรกิจของไทย แล้วหาแนวทางการเจรจาที่จะกระทบกับผู้ประกอบการของไทยให้น้อยที่สุด
สุดท้ายแล้วเชื่อว่า เมื่อครบ 90 วัน ประธานาธิบดีทรัมป์ จะมีการทบทวนนโยบายการขึ้นภาษี อาจปรับขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้รุนแรงเหมือนที่ประกาศในวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนตัวมองว่า เป็นการเขย่ากฎกติกาของการค้าเสรีในปัจจุบัน ให้มีความสมดุลและเป็นทิศทางบวกสำหรับสหรัฐมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ไม่ได้กระทบกับประเทศคู่ค้ามากเหมือนวันแรกที่ประกาศนโยบายนี้ เป็นการค้าเสรีที่มีความเป็นทวิภาคีมากขึ้น”
แนะรัฐตั้งกองทุนช่วยSME :
ถึงแม้สุดท้ายแล้วมาตรการกีดกันทางการค้ามีความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายหลัง 90 วันก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาการค้าเสรี ภายใต้สมดุลใหม่ น่าจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อผู้ประกอบการไทย ทั้งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ที่เปลี่ยนแปลงไปภายหลังการเจรจาสิ้นสุดลง
ประเด็นนี้ อภิชาติกล่าวว่า รัฐบาลควรมีแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านนี้ รวมทั้งองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก เพื่อให้ระบบห่วงโซ่อุปทานสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลไทยต้องปรับสมดุลในการพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐและจีน โดยการเดินสายหารือในระดับทวิภาคี กับคู่ค้าที่สำคัญ 10 อันดับแรกของไทยรวมไปถึงการเจรจาขยายตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างสมดุลใหม่ทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการไทย
“ผมมองว่า เป็นโอกาสสำหรับไทย จะกลับมาวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งทางการค้าของไทยกับคู่ค้าที่สำคัญ ลดการพึ่งพาการค้ากับประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ขยายขอบข่ายทางการค้าให้มีเสถียรภาพมากขึ้น
ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อภิชาติกล่าวว่า เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบได้มีการปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ เน้นสภาพคล่องทางการเงิน ชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ และลดการถือครองสินค้าคงเหลือ เพื่อสร้างฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ความสำคัญกับเรื่องของการบริการหลังการขาย และการดูแลลูกค้ามากขึ้น
ผมเชื่อว่า หลังการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้าต่างๆ หลัง 90 วัน สถานการณ์เศรษฐกิจน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ถ้าการเจรจาไปในทิศทางที่มีความเสี่ยงในการทำธุรกิจ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือ คือ บริษัทต้องเตรียมแนวทางทำให้ธุรกิจสามารถก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นให้ได้ รวมทั้งการสื่อสารสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งพนักงาน คณะกรรมการ ผู้ถือหุ้น รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจ
อย่างที่ผมเคยให้สัมภาษณ์ไว้ต้นปี 2568 เป็นปีที่ผู้ประกอบการทุกธุรกิจต้องเก็บคองอเข่า เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว ถ้าการเจรจาของสหรัฐกับประเทศคู่ค้าต่างๆ ไม่สามารถจบลงได้ คิดว่ามีโอกาสแค่ 30% ปี 2568 จะเป็นปีของการ ‘เก็บคองอเข่า ใส่หมวกกันน็อก’ ของภาคธุรกิจ ต้องชะลอลงทุน เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และวางกลยุทธ์ธุรกิจ ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจใหม่ แต่ผมเชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้น และผู้ประกอบการไทยแข็งแกร่งเพียงพอจะก้าวข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้”
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 28 เมษายน 2568