ทำไมญี่ปุ่น ถึงเป็นชาติแรก ที่ได้เจรจาการค้ากับสหรัฐ
"ญี่ปุ่น" ถือเป็นประเทศแรกที่ได้เริ่มต้นเจรจาการค้ากับสหรัฐอย่างเป็นทางการ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025
การเจรจาของญี่ปุ่นมีนัยสำคัญอย่างมากที่จะเป็นแนวทางในการเจรจาของประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน และหากญี่ปุ่นไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่ดีได้ ประเทศที่ตามมาเจรจาการค้าทีหลังก็อาจไม่สามารถคว้าข้อตกลงอันน่าพอใจเช่นกัน
มีคำถามว่าทำไมญี่ปุ่นถึงเป็นประเทศแรกที่ได้คิวเจรจาอย่างเป็นทางการกับสหรัฐ
เรื่องนี้แน่นอนมีหลายเหตุผล รวมถึงการเป็นประเทศที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับสหรัฐมากสุดประเทศหนึ่งในเอเชีย
นอกจากจะมีข้อตกลงทางการค้า ก็มีสนธิสัญญาด้านความมั่นคง กระทั่งยินยอมให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ขณะที่ด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังถือเป็นประเทศที่มีการเข้าไปลงทุนโดยตรง (FDI) ในสหรัฐสูงอันดับต้น ๆ ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของทรัมป์อย่างมาก ในการดึงการผลิตเข้ามาในสหรัฐอเมริกา
และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น “ชิเงรุ อิชิบะ” ยังได้ต่อสายคุยกับโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันจันทร์ 7 เมษายน ก่อนที่มาตรการภาษีตอบโต้จะมีผลบังคับ โดยผู้นำญี่ปุ่นเตือนว่าภาษีของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อความสามารถของบริษัทญี่ปุ่นในการลงทุนในอเมริกา
กระทั่ง “สกอตต์ เบสเซนต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ออกมายอมรับก่อนหน้าว่า ญี่ปุ่นเดินเกมที่แสดงให้เห็นถึงการตอบสนองต่อสหรัฐอย่างรวดเร็ว
ขณะที่อีกประเด็นสำคัญที่มีการหยิบยกมาพูดคือ “ญี่ปุ่น” เป็นประเทศถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก
“โอซามุ ทาคาชิมะ” จากซิตี้กรุ๊ป ระบุในรายงานว่า ญี่ปุ่นถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศในปริมาณมาก พร้อมกับเงินเยนที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ ญี่ปุ่นจึงตกเป็นเป้าหมายสำคัญในการเจรจาของสหรัฐได้ไม่ยาก
ญี่ปุ่นถือครองพันธบัตรสหรัฐสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจสร้างความวุ่นวายต่อตลาดเงินตลาดทุนสหรัฐได้ไม่ยากหากมีการเทขายพันธบัตรขึ้นมา โดยในช่วงครึ่งแรกของเดือนเมษายน ญี่ปุ่นมีการเทขายพันธบัตรแล้วกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน
สำหรับในการเจรจานัดแรกญี่ปุ่นส่ง “เรียวเซ อาคาซาว่า” รัฐมนตรีเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ มือขวาของ ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เป็นผู้นำทีมเจรจาระดับสูง ขณะที่ฝั่งสหรัฐมีประธานาธิบดีทรัมป์ร่วมวงด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝั่งยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใด ๆ หลังการเจรจานัดแรก ซึ่งอาจเป็นเพราะ ญี่ปุ่นยังไม่ได้มอบในสิ่งที่สหรัฐต้องการเกี่ยวกับสกุลเงินเยนที่อ่อนค่าเกินไปในสายตาของสหรัฐ ซึ่งต้องอาศัยคัตสึโนบุ คาโต้ รัฐมนตรีคลังเป็นผู้เจรจาในประเด็นนี้แทน ขณะที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแสดงชัดเจนว่า ญี่ปุ่นยังไม่เร่งร้อนที่จะต้องบรรลุข้อตกลงในการเจรจาทันที
“ซอล ทาคาฮาชิ” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโอซากาประเมินว่า ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักการเมืองระดับสูงของญี่ปุ่นมีสินทรัพย์ที่ลงทุนในสหรัฐค่อนข้างมาก ตรงนี้เองที่อาจทำให้ญี่ปุ่นเป็นรองสหรัฐอยู่บ้างในการเจรจา ที่สำคัญคือญี่ปุ่นมักกล่าวโทษจีนตลอดเช่นกัน ทำให้ญี่ปุ่นไม่อาจย้ายฝั่งไปเข้าข้างจีนได้ง่ายดายนัก
ญี่ปุ่นจึงถือได้ว่าเป็นพันธมิตรสำคัญที่ใกล้ชิดของสหรัฐ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องหาผลการเจรจาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และเป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่ายมากที่สุด
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 27 เมษายน 2568