"100 วัน" ทรัมป์เปลี่ยนโลก เล็งลุยเจรจา "ข้อตกลงการค้า"
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า นับตั้งแต่รับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. ทรัมป์ออกกฎหมายสร้างการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายเรื่อง ตั้งแต่ภายในประเทศไปจนถึงนโยบายต่างประเทศ พลิกระเบียบเศรษฐกิจโลกด้วยภาษี ลดเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง ยกเลิกโครงการความหลากหลายทั้งในภาครัฐและเอกชน โจมตีทั้งสถาบันวิชาการ บริษัทกฎหมาย และศาล
ทรัมป์มีแผนเดินทางไปมิชิแกนเพื่อเฉลิมฉลองหมุดหมาย 100 วันแรก ทำเนียบขาวตั้งใจเน้นย้ำวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจของเขา, การเนรเทศผู้ลักลอบเข้าเมือง, การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศ และผลงานของกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลโดยอภิมหาเศรษฐีอีลอน มัสก์ ในการยกเครื่องระบบราชการของรัฐบาลกลาง ลดความฟุ่มเฟือย
แม้เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลยกย่องว่าทรัมป์พยายามเปลี่ยนแปลงสังคมอเมริกันอย่างรวดเร็ว นักวิจารณ์กลับกล่าวว่า ทรัมป์ทำลายสิทธิพลเมืองและผู้ที่ไม่ใช่พลเมือง, แปลกแยกพันธมิตร และทำลายความเหนือกว่าของสหรัฐในโลก
ประธานาธิบดีระงับเงินทุนสำหรับมหาวิทยาลัยที่รัฐบาลมองว่า ยอมให้มีพฤติกรรมต่อต้านยิวเกิดขึ้น, ตัดสิทธิบุคคลข้ามเพศ ยกเลิกโครงการความหลากหลาย เท่าเทียม ไม่แบ่งแยก (ดีอีไอ) ในรัฐบาลกลางและคู่สัญญาของรัฐบาลกลาง ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อสังคมสหรัฐเป็นวงกว้าง
หลังจากสร้างการเปลี่ยนแปลงสะเทือนโลก เขย่าขวัญทั้งมิตรและศัตรู เจ้าหน้าที่รัฐบาลรายหนึ่งกล่าวโดยไม่เผยรายละเอียดว่า ทรัมป์ยังมี “ตอร์ปิโดใต้น้ำอีกมากมาย" รวมถึงคำสั่งฝ่ายบริหารที่ทรัมป์ใช้มาตลอด 100 วันแรก เจ้าหน้าที่รายนี้เผยว่า ทรัมป์จะทำต่อไปเหมือน “กลิ้งบอลหิมะลงจากเขา” เช่น รัฐบาลกำลังเดินหน้าห้ามพลเมืองหลายประเทศเดินทางเข้าสหรัฐ
เจ้าหน้าที่อีกรายหนึ่งเผยว่า ใน 100 วันข้างหน้าทรัมป์จะให้ความสำคัญกับข้อตกลงการค้าและการเจรจาสันติภาพมากขึ้น
ปีนี้ประธานาธิบดีสหรัฐทำสงครามการค้าครั้งใหญ่กับหลายประเทศ ก่อนระงับเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้เพื่อเปิดช่องเจรจาเป็นรายประเทศ รัฐบาลของเขาหวังทำข้อตกลงได้ภายใน 90 วัน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ และทรัมป์ยังไม่ทำข้อตกลงกับประเทศใดเลย วาทกรรมของเขาเรื่องการพูดคุยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีน มักสวนทางกับที่ประเทศอื่นพูด
เดือนหน้าทรัมป์จะเดินทางเยือนหลายประเทศ ทั้งซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงเดินหน้าผลักดันสันติภาพรัสเซีย-ยูเครน เขาเคยให้คำมั่นว่าจะแก้ไขความขัดแย้งตั้งแต่ “วันแรก” แต่จนบัดนี้ยังไม่มีวี่แววสันติภาพ ทรัมป์ยอมรับเองเมื่อวันเสาร์ (26 เม.ย.) ว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย อาจไม่ต้องการยุติสงคราม
กล่าวโดยสรุป นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ในวาระที่ 2 แปลกแยกเพื่อน เสริมแกร่งศัตรู ทำให้เกิดคำถามว่าเขาจะเลยเถิดไปถึงไหน สิ่งที่ทรัมป์ทำผนวกกับความไม่แน่นอนสั่นประสาทรัฐบาลหลายประเทศให้ต้องรับมือด้วยวิธีที่แตกต่างยากจะย้อนคืน ต่อให้การเลือกตั้งปี 2028 สหรัฐจะได้ประธานาธิบดีที่อยู่ในร่องในรอยมากกว่าทรัมป์ก็ตาม
“ทรัมป์ตอนนี้รุนแรงกว่าเมื่อแปดปีก่อนมาก เล่นเอาผมประหลาดใจ” เอลเลียต เอบรามส์ เจ้าหน้าที่สายอนุรักษนิยมผู้เคยทำงานให้กับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน และประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นทูตพิเศษว่าด้วยอิหร่านและเวเนซุเอลาในสมัยรัฐบาลทรัมป์ 1.0 กล่าว
นักวิจารณ์มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นช่วง 100 วันแรกเป็นสัญญาณความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในสหรัฐที่สร้างความกังวลไปถึงต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นการใช้วาจาโจมตีผู้พิพากษา ระดมกดดันมหาวิทยาลัย ย้ายผู้อพยพไปยังเรือนจำฉาวโฉ่ของเอลซัลวาดอร์ ตามแผนการเนรเทศครั้งใหญ่
“สิ่งที่เราเห็นตอนนี้คือความปั่นป่วนครั้งใหญ่ในกิจการโลก ถึงจุดนี้ไม่มีใครมั่นใจได้เลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไรและจะมีอะไรตามมา” เดนนิส รอส อดีตผู้เจรจาตะวันออกกลางในสมัยรัฐบาลเดโมแครตและรีพับลิกันกล่าว
เว็บไซต์ยูเอสเอทูเดย์ รวบรวมผลงานรัฐบาลทรัมป์ 100 วันแรก ที่น่าสนใจเช่น
ตลาดหุ้น :
ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ผันผวนอย่างหนัก ดิ่งลงทันทีที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้กับนานาประเทศทั่วโลก แล้วก็พุ่งขึ้นหลังมีข่าวว่าชะลอการเก็บออกไป 90 วัน ตลาดขึ้นๆ ลงๆ ตามข่าวสงครามการค้าโลกบานปลาย โดยเผชิญกับภาวะตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด ตลาดพันธบัตรก็ตื่นตระหนกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
การเข้าเมือง :
จำนวนคนข้ามแดนทางภาคใต้ของประเทศลดลงมากนับตั้งแต่สิ้นสุดรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน มาอยู่ที่ราว 8,450 คน ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาซึ่งเป็นเดือนแรกที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีเต็มเดือน ต่ำสุดในรอบ 25 ปีเป็นอย่างน้อย ในเดือน ธ.ค.2024 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายที่ไบเดนทำงานเต็มเดือน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร (ไอซีอี) รายงานการจับกุม 47,000 ราย เพิ่มขึ้นกว่าห้าเท่า
แม้รัฐบาลทรัมป์เร่งเนรเทศแต่จำนวนลดลงเล็กน้อย เดือน ก.พ.2024 สมัยรัฐบาลไบเดน สหรัฐเนรเทศผู้อพยพกว่า 12,000 คน เดือน ก.พ.ปีนี้ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ลดลงเหลือราว 11,000 คน
เศรษฐกิจ :
นักวิเคราะห์เชื่อมากว่า สงครามการค้าของทรัมป์จะทำให้เศรษฐกิจถดถอย ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ในเดือน มี.ค. เชื่อมั่นเพิ่มขึ้นถึง 47% จาก 25% เมื่อเดือน ก.พ.ว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกจะถดถอย ความเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่งลงเหลือ 50.8% ในเดือน มี.ค. จาก 71.7% ในเดือน ม.ค.
ดอลลาร์อ่อนค่าร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสามเดือนเมื่อเดือน เม.ย. ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
ไข่ทรัมป์แพง :
อีกหนึ่งผลงานที่กลายเป็นประเด็นคือ ไข่ทรัมป์แพง ราคาไข่เบอร์ใหญ่สัญลักษณ์เงินเฟ้อที่ทรัมป์เคยนำมาหาเสียง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากวิกฤติไข้หวัดนกมาอยู่ที่เฉลี่ยโหลละ 6.23 ดอลลาร์ (ราว 209.5 บาท) เมื่อเดือน มี.ค. แม้ราคาขายส่งเริ่มลดลงแล้วก็ตาม
สัมพันธ์เพื่อนบ้าน :
ด้านความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านถือว่า ระอุ ทรัมป์เก็บภาษีแคนาดาและเสนอว่า ควรเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐ ประธานาธิบดีสหรัฐกลายเป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งแคนาดาในวันที่ 28 เม.ย. ขณะเดียวกันทรัมป์ได้เปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโกเป็นอ่าวอเมริกาในเอกสารของรัฐบาลกลาง
โครงการความหลากหลาย :
โครงการความหลากหลาย เท่าเทียม และครอบคลุม ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาประวัติศาสตร์แห่งการเหยียดเชื้อชาติของสหรัฐถูกยกเลิกในหน่วยงานรัฐบาลกลางและกองทัพ เท่านั้นยังไม่พอรัฐบาลทรัมป์ยังเล่นงานโครงการนี้ในบริษัทกฎหมายเอกชน มหาวิทยาลัยของรัฐ และสถาบันอื่นๆ ที่ได้รับเงินสนับสนุนหรือต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลกลางด้วย
ยกเครื่องสื่อ :
ทำเนียบขาวยกเครื่องกลุ่มสื่อที่คอยติดตามทำข่าวประธานาธิบดี สำนักข่าวเอพี, รอยเตอร์ส และบลูมเบิร์กถูกเพิกถอนออกจากกลุ่ม สื่อใหม่โดยเฉพาะรายที่ทำข่าวแนวนโยบาย “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง” (MAGA) ได้เข้ามาแทน
ภาษีจีน :
สินค้านำเข้าจากจีนตั้งแต่ของเล่นและเสื้อผ้าไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์กีฬา ถูกเก็บภาษีสูงถึง 145% จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าสหรัฐ 25% กลายเป็นสงครามการค้าระหว่างสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก แม้แต่เกาะห่างไกลในแอนตาร์กติกาอย่างหมู่เกาะเฮิร์ดและแมคโดนัลด์ที่มีแต่แมวน้ำกับเพนกวินก็ไม่ละเว้น ถ้าคิดจะส่งสินค้าไปขายสหรัฐต้องโดนภาษี 10%
ปลดเจ้าหน้าที่ :
อีลอน มัสก์ ผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก ออกแบบและเป็นผู้นำกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ทำหน้าที่ลดหน่วยงานของรัฐบาลกลางที่ใหญ่โตมโหฬาร DOGE สั่งปลดเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางหลายหมื่นคน เสนอให้ออกอีกหลายหมื่นคน ทั้งยังสามารถเข้าถึงระบบข้อมูลพลเมืองอีกหลายล้านคน
ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นับถึงวันที่ 26 เม.ย. มีพนักงานรัฐบาลกลางถูก DOGE ไล่ออกไปแล้วอย่างน้อย 121,000 คน จาก 30 หน่วยงานเป็นอย่างน้อยเล่นเอาผู้ไม่พอใจต้องออกมาตอบโต้ด้วยการหยุดซื้อรถเทสลาของมัสก์ ส่งผลให้กำไรของเทสลาร่วงลง 71% ในไตรมาสแรกของปี 2025 อย่างไรก็ตาม ภาษีรถยนต์ก็มีผลด้วย กระนั้น มัสก์ก็ต้องลดบทบาทตนเองกล่าวว่า จะกลับไปดูแลเทสลาให้มากขึ้น ทำงานให้ DOGE น้อยลง
คิงชาลส์เชิญเยือนอังกฤษ :
นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของอังกฤษ ส่งพระราชสาส์นจากสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 เชิญทรัมป์เยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน และทรัมป์ตอบรับคำเชิญในทันที
กรีนแลนด์ :
รองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ และอุชา แวนซ์ สุภาพสตรีหมายเลขสอง ไปเยือนกรีนแลนด์เพื่อหยั่งกระแสข้อเสนอของทรัมป์ที่อยากได้กรีนแลนด์ ปรากฏว่าผลตอบรับเย็นชาแต่ทรัมป์ก็ไม่ย่อท้อ ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ประกาศว่า จะเป็นสายการบินเพียงแห่งเดียวของสหรัฐที่บินไปกรีนแลนด์ เริ่มต้นวันที่ 14 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ 79 ของประธานาธิบดี
นอกจากนี้ทรัมป์ยังเคยพูดหลายครั้งว่าต้องการยึดคลองปานามากลับมาเป็นของสหรัฐ โดยไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีการทางเศรษฐกิจและการทหาร
ผ่อนคลายผลิตถ่านหิน :
ทรัมป์ให้ความสำคัญกับการเพิ่มการผลิตพลังงานของสหรัฐ “ขุดเลยลูก ขุด” ถือเป็นคำหาเสียงที่ใครๆ ก็จำได้ เมื่อรับตำแหน่งเขาจึงผ่อนคลายระเบียบการผลิตถ่านหิน
ไม่เพียงเท่านั้น ทรัมป์ยังอนุญาตให้ตัดไม้ในอุทยานแห่งชาติกว่าครึ่ง ที่ดินรัฐบาลกลางในเนวาดาและนิวเม็กซิโกได้รับอนุญาตให้เขาไปทำเหมืองขุดแร่หายาก ยกเลิกคำสั่งห้ามที่ไบเดนสั่งการไว้ช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ของการบริหาร
นโยบายต่างประเทศ :
สหรัฐและอิหร่านเปิดการเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของรัฐบาลเตหะรานในโอมาน ถือเป็นการเจรจาโดยตรงครั้งแรกในรอบ 10 ปี
ส่วนความพยายามหยุดยิงในกาซาหยุดชะงัก หลังอิสราเอลกำหนด “เขตความมั่นคง” อย่างกว้างขวางส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์ต้องพลัดถิ่นหลายแสนคน
ด้านความสัมพันธ์กับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ทรัมป์เรียกร้องให้ประเทศยุโรปเพิ่มงบประมาณกลาโหมซึ่งก็ได้ผล
เรตติ้งตกก่อนครบ 100 วัน :
ผลสำรวจความคิดเห็นสามสำนัก เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (27 เม.ย.) พบว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่พอใจกับการเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ คะแนนนิยมโฉบเฉี่ยวอยู่ระหว่าง 39%-45% ต่ำสุดในรอบกว่า 70 ปี สำหรับประธานาธิบดีที่เพิ่งทำงานได้เพียง 100 วัน
ผลสำรวจของวอชิงตันโพสต์-เอบีซีนิวส์ และอิปซอส พบว่า ชาวอเมริกัน 39% พอใจผลงานของทรัมป์ โพลของซีเอ็นเอ็น/เอสเอสอาร์เอส พึงพอใจ41% และ เอ็นบีซีนิวส์ พึงพอใจ 45%ตัวเลขล่าสุดแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับตอนที่ทรัมป์เพิ่งสาบานตนในเดือน ม.ค. ที่ตอนนั้นคะแนนนิยมสูงมาก
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 29 เมษายน 2568