ส่อง! ผลกระทบต่อเศรษฐกิจฟินแลนด์ เมื่อสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศนโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) โดยเรียกเก็บภาษีสินค้านําเข้าจากประเทศคู่ค้าทั้งหมด รวมถึงสินค้านำเข้าจาก EU ในอัตราภาษีร้อยละ 20 ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนเมษายนนี้
จากข้างต้น หากสหรัฐฯ ใช้นโยบายภาษีนำเข้าดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจฟินแลนด์ ดังนี้
(1)การเผชิญกับอุปสรรคทางการค้า เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่ที่สุด (นอกจาก EU) ของฟินแลนด์ มีมูลค่าการส่งออกราว 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก กระดาษ เครื่องจักร และเทคโนโลยี ซึ่งจะต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการค้าเพิ่มขึ้น
(2)การบริโภค การค้าระหว่างประเทศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตในระยะเริ่มต้น รวมถึงบริษัทบางแห่งพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านภาษีนำเข้า
(3)การเติบโตของ GDP ต่ำลง โดยการกำหนดภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับมาตรการตอบโต้และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้การเติบโตของ GDP ฟินแลนด์ต่ำลงราวร้อยละ 0.5 ในปี 2568 (ซึ่งแต่เดิมธนาคารกลางแห่งฟินแลนด์ประเมินไว้ว่าอัตราการเติบโตของ GDP ของฟินแลนด์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ในปี 2568 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ในปี 2569 และลดลงเหลือร้อยละ 1.3 ในปี 2570)
อีกทั้ง เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิได้มีโอกาสหารือกับนาง Tiina Alahuhta-Kasko ประธาน และ CEO ของบริษัท Marimekko ซึ่งเป็นบริษัทสิ่งทอ เสื้อผ้า และของตกแต่งบ้านของฟินแลนด์ ได้แลกเปลี่ยนความคิดกันเรื่องผลกระทบต่อนโยบายมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ โดยบริษัท Marimekko มีเพียงร้านจัดจำหน่ายในสหรัฐฯ แต่ไม่มีฐานการผลิตที่สหรัฐฯ จึงมีความกังวลต่อกำแพงภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้า (ต้นทุนวัตถุดิบ) ซึ่งส่งผลให้เกิดอุปสรรคทางด้านราคาในการจัดจำหน่ายและมูลค่าการค้าในภาพรวม
ทั้งนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับ EU ทำให้ EU ตระหนักว่าไม่สามารถพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ได้เหมือนในอดีตเพราะประเด็นความไม่แน่นอนและความต่อเนื่องของนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจการค้า ซึ่งจะส่งผลให้ EU ต้องหันไปให้ความสำคัญกับตลาดใหม่ ๆ
นอกจากนี้ EU ยังเห็นประโยชน์ของความตกลงการค้าเสรี ซึ่งมีเนื้อหาที่ชัดเจนและบังคับใช้กับประเทศคู่สัญญาอย่างเหมาะสม เป็นธรรมและคาดหมายได้ จึงมีความเป็นไปได้ว่า EU จำเป็นต้องเร่งทำความตกลงทางการค้า (FTA) กับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์และไทยควรใช้โอกาสนี้เร่งผลักดันให้การเจรจามีความคืบหน้าโดยเร็ว (ข้อมูล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ, เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์)
ที่มา globthailand
วันที่ 29 เมษายน 2568