เศรษฐกิจไทยป่วยเรื้อรัง
ปี 2568 ผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน แต่พลังงานในการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่แทบจะไม่เหลือ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ถูกความเสี่ยงจากการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยของสหรัฐ ในอัตราสูงกว่าเดิมจนอันตราย
เช่นเดียวกับเหตุการณ์ก่อนหน้าไม่กี่วันที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งสำคัญของไทย จนมีภาพตึกถล่มออกมาเขย่าขวัญความเชื่อมั่นทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ
เมื่อต้องเผชิญความเสี่ยงอย่างสงครามภาษีของสหรัฐ และการตั้งกำแพงภาษีสวนกลับของจีน ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับประมาณการจีดีพีไทยปี 2568 จะโตได้เพียง 1.8% เท่านั้น และจะลดลงเหลือ 1.6% ในปี 2569
ถือเป็นแนวโน้มที่ต่ำที่สุดในกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งต้องบอกว่าทุกประเทศมีประมาณการณ์จีดีพีที่สูงกว่าไทยทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่เมียนมา ซึ่งมีประมาณการณ์จีดีพีโตได้ถึง 1.9% มากกว่าไทย ทั้งที่เมียนมาเผชิญภาวะสงครามการเมืองมายาวนาน
เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น รัฐบาลจึงเตรียมแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ คาดใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท โฟกัสเม็ดเงิน 3 ส่วน คือ 1.การกระตุ้นการบริโภค 2.การลงทุนในประเทศ 3.การออกซอฟต์โลน
โดย “พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ยังย้ำว่า แนวทางกระตุ้นครั้งนี้ไม่อยากให้มองเรื่องหนี้สาธารณะ เพราะหลายประเทศมีหนี้สูง สิ่งสำคัญอยู่ที่การใช้เงินทำอะไร ถ้าทำให้ขนาดเศรษฐกิจเติบโตกว่าเดิมจะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีลดลง
คำถามที่ต้องไฮไลต์ตัวโตๆ คือ แล้ววิธีการหรือแผนในการใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร วัดผลความสำเร็จจริงได้มากน้อยเท่าใด เนื่องจากทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ หรือนักวิเคราะห์ต่างถอดบทเรียนแล้วว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบประชานิยมไม่สามารถทำแล้วเห็นผลมากนักเมื่อการรักษาแบบเดิมๆ ไม่ได้ผล ก็ถึงเวลาที่คุณหมอต้องหาวิธีการรักษารูปแบบใหม่แล้วรอคำตอบจากคุณหมอพิชัย เร็วๆ นี้
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 29 เมษายน 2568