เปิดไทม์ไลน์ "ทรัมป์ 2.0" 100 วันแรก เขย่าเศรษฐกิจโลกด้วยสงครามภาษี
สรุปไทม์ไลน์ 100 วันแรก "ทรัมป์ 2.0" เกิดอะไรขึ้นบ้าง? เปิดศึกเศรษฐกิจโลก สงครามภาษีเดือด ตั้งแต่ถอนตัวความตกลงปารีส กำแพงภาษีถล่มจีน-พันธมิตร เศรษฐกิจโลกสะเทือน
นับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2025 วันที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กลับเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 สถานการณ์เศรษฐกิจโลกก็เริ่มสั่นคลอนอย่างชัดเจน ภายในระยะเวลาเพียง 100 วันแรก นโยบายสายแข็งของทรัมป์ได้จุดชนวนความปั่นป่วนไปทั่ว ตั้งแต่การถอนตัวจากความตกลงระหว่างประเทศสำคัญ ไปจนถึงการเปิดฉากสงครามการค้าเต็มรูปแบบ
วันแรกของการดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารสองฉบับที่เขย่าวงการระหว่างประเทศทันที คำสั่งฝ่ายบริหาร 14162 ประกาศให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงปารีสและพันธะสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศอื่นๆ ในขณะที่คำสั่งฝ่ายบริหาร 14155 กำหนดให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์รอบนี้จะดำเนินนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" เข้มข้นยิ่งกว่าครั้งไหนๆ
จากนั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ ทรัมป์เดินหน้าปะทุสงครามการค้าอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2025 ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารสามฉบับ กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาที่ 25% และสำหรับสินค้าจากจีนที่ 10% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2025 แม้ว่าผู้นำเม็กซิโกและแคนาดาจะพยายามเจรจาขอเลื่อนการเก็บภาษีออกไปหนึ่งเดือน แต่ท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 4 มีนาคม มาตรการดังกล่าวก็เริ่มมีผลจริง นำไปสู่การตอบโต้จากจีนและแคนาดาที่ต่างตั้งกำแพงภาษีสินค้าสหรัฐฯ ในอัตราเดียวกัน
แล้วจุดเดือดก็ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 ทรัมป์ประกาศ "วันปลดแอก" กำหนดภาษีนำเข้า 10% สำหรับสินค้าทุกชนิดจากทั่วโลก และเพิ่มภาษีพิเศษสำหรับสินค้าจาก 57 ประเทศ สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วตลาดโลก ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สูญเสียมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ในเวลาอันรวดเร็ว ขณะที่ประเทศต่างๆ เร่งวิเคราะห์ผลกระทบ ไทยเองก็หนีไม่พ้น ถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าส่งออกในอัตราสูงถึง 36%
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2025 เพื่อคลี่คลายความตึงเครียดบางส่วน ทรัมป์ประกาศชะลอการเก็บภาษีนำเข้าสำหรับประเทศส่วนใหญ่เป็นเวลา 90 วัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2025 อย่างไรก็ตาม จีนไม่ได้อยู่ในข่ายได้รับการผ่อนปรน ยังคงเผชิญภาษีเพิ่มขึ้นถึง 145% ในวันเดียวกัน ซึ่งถือเป็นหมากกดดันจีนอย่างรุนแรง ภายใต้นโยบาย "ภาษีตอบโต้" เพื่อเร่งรัดการเจรจาการค้าใหม่ตามแนวทางที่สหรัฐฯ ต้องการ
ความเข้มข้นยังต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2025 ทำเนียบขาวเผยแพร่ Fact Sheet เกี่ยวกับการสอบสวนแร่สำคัญภายใต้มาตรา 232 พร้อมตอกย้ำอีกครั้งถึงแนวนโยบาย "วันปลดแอก" โดยระบุว่าจีนเผชิญภาษีนำเข้าสูงสุดถึง 245% ไม่ใช่จากการตั้งภาษีรายการเดียว
แต่เกิดจากการซ้อนทับหลายมาตรการ ได้แก่ ภาษีฐาน 10%, ภาษีตอบโต้ 125%, ภาษีพิเศษ 20% จากปัญหาเฟนทานิล และภาษีตามกฎหมาย Trade Act มาตรา 301 ซึ่งมีช่วงตั้งแต่ 7.5% ถึง 100% ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าและพฤติกรรมทางการค้าที่สหรัฐฯ มองว่าไม่เป็นธรรม
ผลกระทบต่อเวทีโลกตามมาอย่างรวดเร็ว จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษี 125% สำหรับสินค้าสหรัฐฯ และจำกัดการส่งออกแร่หายากที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ขณะที่แคนาดาและเม็กซิโกก็ไม่น้อยหน้า ประกาศมาตรการตอบโต้เก็บภาษี 25% สำหรับสินค้าสหรัฐฯ และจำกัดการนำเข้าสินค้าบางประเภท ส่วนสหภาพยุโรปเสนอข้อตกลง "ภาษีศูนย์ต่อศูนย์" สำหรับสินค้าทางอุตสาหกรรม แต่เมื่อการเจรจาล้มเหลว ก็ประกาศตอบโต้ด้วยการเก็บภาษี 25% สำหรับสินค้าสหรัฐฯ มูลค่า 21 พันล้านยูโร
ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทรัมป์ถอนการสนับสนุนยูเครนในสงครามกับรัสเซีย พร้อมเสนอแผนสันติภาพ 7 ข้อ แต่ยังไร้ความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน ตะวันออกกลางก็ตึงเครียดเมื่อสหรัฐฯ ดำเนินการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มตัวแทนของอิหร่าน พร้อมขู่ดำเนินการเพิ่มเติม แม้มีการพูดถึงความพยายามรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์
ในมุมเศรษฐกิจโลก การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ได้สร้างความไม่แน่นอนต่อห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างมาก หลายประเทศต้องเลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กำลังเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่น เศรษฐกิจสหรัฐฯ เองก็ไม่รอดพ้นแรงกระแทก อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยพุ่งจาก 2.5% เป็น 27% สูงสุดในรอบ 100 ปี และนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อสูงจนเศรษฐกิจเริ่มมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สูญเสียมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์จากความวิตกกังวลต่อนโยบายภาษีและทิศทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
100 วันแรกของ "ทรัมป์ 2.0" จึงไม่ใช่แค่การวางแนวทางใหม่ให้สหรัฐฯ แต่ยังเขย่าเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง ท่ามกลางความหวังว่าความร้อนแรงครั้งนี้อาจนำไปสู่การเจรจาและข้อตกลงใหม่ หรือจะปูทางสู่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยิ่งกว่าเดิม
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 30 เมษายน 2568