ทางออกหลังระเบียบโลกเปลี่ยน ไทยต้องรอดสงครามภาษี
สามนักวิชาการด้านการเงินร่วมหาทางออกไทยต้องรอดในสงครามการค้า แนะรัฐงดใช้จ่ายเกินตัวหันสนใจเอสเอ็มอี ด้านภาคธุรกิจงดหว่านแห เน้นเจาะตลาดเล็กแต่ลึก
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเสวนาในหัวข้อ “Business During Trump : ธุรกิจไทยหลังนโยบาย Trump” ณ CBS Cinema ชั้น 3 อาคารไชยยศสมบัติ 1 นำโดยนายวิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวเปิดงานถึงสถานการณ์สงครามการค้าในขณะนี้ว่า เมื่อใดก็ตามที่มีสงคราม แปลว่ามีการต่อสู้กันเกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายถึงการสู้เพื่อเอาชีวิต แต่เป็นการหายุทธศาสตร์ตอบโต้กัน
The World First ทั้งโลกต้องมาก่อน :
คนที่ฉลาดกว่าก็จะเปลี่ยนสงครามให้เป็นสันติภาพทางการค้า เมื่อเกิดสันติภาพโลกก็จะเต็มไปด้วยผู้ชนะร่วมกัน สอดคล้องกับนโยบายของจุฬาลงกรณ์ ที่ต้องการสร้างคนให้เป็นรากฐานของผู้นำที่มีจิตสำนึกในการเป็นผู้ให้
หากไทยสามารถสร้างนโยบาย และนำเสนอแนวทางสันติภาพทางการค้ามาได้ เพื่อให้ทุกคนเป็นผู้ชนะด้วยกัน หมายความว่า ผู้ชนะจะต้องไม่กินรวบ มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และแบ่งปันโลกนี้เป็นของคนทุกคน เพราะนายวิเลิศเชื่อว่าการบริหารยุทธศาสตร์ที่ดีคือ การบริหารให้คนมองในภาพกว้าง ไม่ใช่มองเพียงส่วนใดส่วนเดียว
นโยบาย American First เป็นการมองเพียงตัวเอง หรือพวกพ้องกันเองต้องมาก่อนเท่านั้น ซึ่งผู้ชนะที่ทำให้ผู้อื่นพ่ายแพ้ถือเป็นชัยชนะที่ไม่ยั่งยืน ในทางตรงกันข้ามชัยชนะที่ยั่งยืนต้องเกิดจากใจที่อยากให้คนคนนั้นเป็นผู้นำอย่างแท้จริง การสร้างยุทธศาสตร์ที่ดีจึงต้องเป็น The World first หรือทั้งโลกต้องมาก่อน
รัฐงดใช้จ่ายเกินตัว :
ด้านนายรัฐชัย สีลาเจริญ หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน กล่าวความเห็นกลางวงเสวนาว่า การเตรียมรับมือผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีสหรัฐ รัฐบาลต้องอย่าเพิ่งรีบใช้จ่ายเกินตัว เพราะเรายังไม่สามารถมั่นใจผลการเจรจาได้ หากรัฐบาลเร่งก่อหนี้เพิ่ม และภาพไม่ได้เป็นอย่างที่คาดไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็อาจไม่ตรงจุดได้
อีกทั้งหนี้สาธารณะของประเทศมีเพดานกำหนดไว้ ในแง่นโยบายการคลัง รัฐจึงไม่ควรเร่งใช้เงิน เขาเปรียบเทียบกับภาคธุรกิจที่ชะลอการลงทุนเพื่อรอดูทิศทางความเสี่ยงให้ชัดเจนมากสุดก่อน ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายลดดอกเบี้ยแล้ว 2 รอบ เป็นนโยบายการเงินที่น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่ม และไม่ได้มีผลทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงด้วย
ด้านคำแนะนำสำหรับภาคธุรกิจ นายรัฐชัย กล่าวว่า ต้องวางแผนเสี่ยงด้านเรื่องสภาพคล่องให้ดี ซึ่งการมีเงินสดในมือน่าจะช่วยรับคลื่นที่จะกระแทกเข้ามาได้มากที่สุด และต้องระวังการก่อหนี้ใหม่ในภาวะที่มีความไม่แน่นอน การก่อหนี้ทันทีอาจลดความยืดหยุ่นทางการเงินให้มีปัญหาได้
นอกจากนี้ยังต้องวางแผนรับมือความเสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยน หรือค่าเงินให้ดี เพราะตั้งแต่หลักโควิด-19 เป็นต้นมา ค่าเงินบาทผันผวนอย่างรวดเร็ว การบริหารความเสี่ยงด้านค่าเงินจึงมีความสำคัญ เนื่องจากแต่ละธุรกิจมีผลกระทบจากค่าเงินมากน้อยไม่เท่ากัน ผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าไปขายกับสหรัฐ หรือผู้ขายสินค้าที่มีมาร์จิ้นต่ำ อาจได้รับผลกระทบเร็วกว่า
โลกต้องขาด ‘ไทย’ ไม่ได้ :
ขณะที่นางสมชนก ภาสกรจรัส หัวหน้าภาควิชาพาณิยศาสตร์ จุดประกายไอเดียในการสร้างความต่างว่า ไทยต้องหาจุดเด่นของตัวเองที่สามารถดึงดูดให้นานาประเทศต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าจากเราเป็นหลัก โดยเฉพาะสหรัฐและจีน และไม่ลืมตลาดใหม่ใกล้ตัวอย่างอาเซียน
เธอยกตัวอย่างว่าหากสินค้าของไทยมีความโดดเด่นก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น นอกจากนี้นอกจากนี้รัฐบาลยังควรเร่งทำการเจรจาเสรีการค้า (FTA) ร่วมกับหลายประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทวีปยุโรปที่จะช่วยส่งเสริมการส่งออกของไทยได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นางสมชนกแนะนำให้รัฐบาลหันกลับมาให้ความสนใจในฝั่ง SMEs และสตาร์ทอัพมากกว่าการนำเงิน การนำเงินงบประมาณไปแจกประชาชน เนื่องจากเป็นภาคส่วนที่จะช่วยให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อวงจรเศรษฐกิจได้ดีกว่า
ภาคธุรกิจต้องรันต่อ :
ด้าน ผศ.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด กล่าวว่า ในมุมมองของนักการตลาด การขึ้นภาษีของสหรัฐมีความรุนแรงเทียบเท่าการยิงระเบิดนิวเคลียร์ เนื่องจากทำให้ทั้งโลกต้องเดือดร้อนและยกตัวอย่างคำพูดของนายกรัฐมนตรีประเทศสิงคโปร์ที่ใช้คำว่า นี่คือการเปลี่ยนระเบียบของโลก
“สมมติเป็นกีฬาฟุตบอล ระเบียบฟุตบอลฟีฟ่า คือเริ่มที่แต้ม 0-0 วันดีคืนดี มีคนบอกว่า ถ้าเล่นกับประเทศฉันเริ่มที่ 1-0 นะ ประเทศฉันได้เปรียบ พอเป็นสหรัฐไทยได้เปรียบประเทศฉันเยอะ(เทียบจากการเกินดุลการค้า งั้นขอเริ่มที่ 8-0 แล้วกัน
พอเริ่มต้นแบบนี้ ก็ไม่มีใครอยากเตะด้วย ซึ่งระเบียบโลกที่ทำโดย WTO ที่คล้าย ๆ กับฟีฟ่าในเรื่องของการค้า มันโดนทำลายทิ้งหมด โลกก็เลยป่วนและวุ่นวายกันไปหมด”
นอกจากนี้การขึ้นภาษีของสหรัฐในด้านการตลาดเราคาดการณ์ไม่ได้เลยว่า กำลังซื้อจะหายไปมากน้อยแค่ไหน ขณะที่ในด้านกลยุทธ์ก็ยังพอมีทางออกอยู่คือการทำสินค้าและโปรโมชั่นในลักษณะที่เล็กลง แต่ลึกขึ้น หมายความว่าแบรนด์ต่าง ๆ ต้องเลิกหว่านแหแต่ต้องเข้าสู่ตลาดให้ตรงจุด และต้องรู้ว่า ลูกค้าอยู่ในแพลตฟอร์มใดเป็นหลัก
ส่วนการสต๊อกของไม่ไม่ใช่คำตอบ เนื่องจากหากเราหยุดในวันที่คนอื่นหยุด แปลว่าเราก็จะไม่ได้อะไรเลย อย่างไรก็ตามสำหรับการทำแบรนด์ดิ้ง ผศ.เอกก์ แนะนำว่า คนเราจะใช้เงินกับสินค้าที่เขาเชื่อมั่นเท่านั้น ซึ่งทางรอดก็คือ แบรนด์ต่าง ๆ ต้องไม่ลดต้นทุนและจะต้องลงทุนในเรื่องนี้ให้มากขึ้น รวมถึงพัฒนาคุณภาพอีกด้วย
ก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายว่าสำหรับสงครามภาษีในครั้งนี้เป็นเรื่องที่เราต้องทำใจเนื่องจากเรื่องนี้เกิดขึ้นมาแล้วและมันจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก การมีคนทำลายกฎเกณฑ์เดิมไป ทำให้เราเข้าสู่ระเบียบโลกใหม่ ผู้ประกอบการเองจึงจำเป็นต้องสร้างความเชื่อใจให้กับลูกค้า ใส่ใจลูกค้ากลุ่มเล็ก และจริงใจต่อการทำธุรกิจมากขึ้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 2 พฤษภาคม 2568