"ธุรกิจ" เข้าโหมดตุนสภาพคล่อง "เซฟต้นทุน" พยุงซัพพลายเชน
ภาคธุรกิจรับมือคลื่นวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ เข้าโหมด "Wait & See" อสังหาฯ อ่วมหนัก ติดล็อกรีเจกต์เรตสูง 45% ฉุดซัพพลายเชนสะดุด เข้มบริหาร "สภาพคล่อง” เพื่ออยู่รอดระยะยาว
ด้าน “อีเวนต์” ฝืดสุดรอบ 10 ปี ลูกค้าเลื่อนจ่ายกระทบลูกโซ่ “เอสซีจี”เข้มบริหารสภาพคล่อง ลดต้นทุน “เอสซีจีพี” ชี้กระแสเงินสดสำคัญสุด
สถานการณ์เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกกำลังสั่นคลอนอย่างหนักจากปัจจัยเสี่ยงรุมเร้ารอบด้านทั้งแรงสั่นสะเทือนจากนโยบายภาษีทรัมป์ ก่อสงครามการค้าร้อนระอุ ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้อนแรงหลายพื้นที่ กระทบความเชื่อมั่นการลงทุน การบริโภค ผู้คนระมัดระวังการใช้จ่าย
ปัจจัยดังกล่าวส่งผลภาคธุรกิจเข้าสู่ภาวะ “Wait & See” โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ล่าสุดเผชิญแรงกระแทกจากเหตุแผ่นดินไหวซ้ำเติมตลาดที่ชะลอตัวอยู่แล้วหดตัวหนัก
ขณะที่ “อีเวนต์” ธุรกิจเงินสดที่เงินหายจากระบบ เรียกว่า ฝืดสุดรอบ 10 ปี ลูกค้าเลื่อนจ่ายเงิน กระทบเบิกจ่ายเป็นลูกโซ่ ถึงออกาไนเซอร์ ซัพพลายเออร์
สภาพคล่องไม่พอ ธุรกิจจะหยุดสนิท!
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดไตรมาส 1 แม้ไม่เลวร้ายเท่าจุดต่ำสุดช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 แต่สะท้อนชัดว่าผู้ประกอบการและผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่สภาพถอยหลัง เพื่อประเมินสถานการณ์ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยังปกคลุม “ตัวเลขไม่สวย แต่ยังไม่ถึงกับวิกฤติ”
“แม้ผลกระทบจากแผ่นดินไหวเริ่มคลี่คลายด้วยการฟื้นฟูซ่อมแซม แต่สิ่งที่เป็นความเสี่ยงแฝงคือผลสะเทือนเชิงนโยบายจากสหรัฐ ซึ่งไม่เพียงกระทบเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลก แต่ส่งแรงสะเทือนไปถึงฐานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทย”
ภายใต้ภาวะที่ความมั่นใจถูกแรงสะเทือนจากปัจจัยลบรอบด้านและความไม่แน่นอนสูง "การบริหารสภาพคล่อง" เป็นภารกิจหลักของธุรกิจที่ผู้ประกอบการเข้าสู่โหมด “Wait & See” ทั้งการลงทุน และการเปิดตัวโครงการใหม่เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นระยะข้างหน้า
“เพราะหากสภาพคล่องไม่พอ ธุรกิจไม่เพียงชะลอ แต่จะหยุดสนิท” นายประเสริฐกล่าวย้ำว่า กลไกสำคัญที่ต้องจับตาคือการชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด หากภาคเอกชนชำระหนี้ไม่ได้ตามเวลาจะเกิดแรงกระเพื่อมในตลาดเงิน-ตลาดทุนทันที เช่นเดียวกับหนี้สินเชื่อที่ต้องบริหารจัดการอย่างรัดกุม โดยหลายบริษัทเริ่มใช้แนวทาง “Call Restructure” ยืดอายุกันชนไปก่อน และหวังพึ่งกลไกของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยง
อสังหาฯติดล็อกรีเจกต์เรตพุ่งฉุดวงจรสะดุด
นายสุนทร สถาพร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ไม่เพียงผู้ประกอบการที่ต้องประคองตัว ฝั่ง “ผู้ซื้อ” ก็สะดุดไม่แพ้กัน สังเกตได้จากตัวเลข “รีเจกต์เรต” หรืออัตราการปฏิเสธสินเชื่อพุ่งทะยานจากระดับ 5-10% ก่อนยุคโควิด-19 เป็น 45% ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นระดับ “ผิดปกติ” และน่ากังวลยิ่งเมื่อผู้ซื้อกู้ไม่ได้ วงจรของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็หยุดเดิน ไม่มีการเปิดโครงการใหม่ ดีมานด์ถูกแช่แข็ง
ในสภาพแวดล้อมที่ทุกฝั่ง “ไม่พร้อม” จึงมีข้อเสนอเชิงระบบผ่านแนวคิดเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เริ่มจากดีเวลอปเปอร์ต้อง Lean Cost และปรับราคาขายให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ส่วนผู้บริโภคต้องจัดการหนี้ที่ไม่จำเป็น สร้างเครดิตใหม่ ลดรายจ่าย-เพิ่มอำนาจซื้อ
ขณะที่สถาบันการเงินต้องเพิ่มความยืดหยุ่น โดยเฉพาะการเสนอ Mortgage Insurance หรือประกันค่างวด หากเกิดเหตุฉุกเฉินรัฐบาลต้อง “ต่อยอด” จากมาตรการเดิมที่ปลดล็อกมาตรการควบคุมสินเชื่อ LTV และลดค่าโอน-จดจำนอง ด้วยมาตรการใหม่ที่ชัดเจนและเข้าถึงรากหญ้า
ข้อเสนอที่น่าจับตาที่สุดคือ “คุณกู้ เราช่วย” ที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เสนอให้รัฐบาลสนับสนุน “ดอกเบี้ย 0%” ช่วง 3 ปีแรกของการผ่อนบ้าน โดยให้ผู้กู้ผ่อนเฉพาะเงินต้นจะลดภาระผู้ซื้อ และฟื้นความมั่นใจกลุ่มราคาต่ำกว่า 7 ล้านบาท ซึ่งครองสัดส่วนถึง 80% ของหน่วยตลาด แต่มีเพียง 60% ของมูลค่าโอน ขณะที่กลุ่มราคาสูงกว่า 7 ล้านบาท แม้มีเพียง 20% ของหน่วย แต่ถือมูลค่าถึง 40% ของตลาด
ดังนั้นจึงเกิดคำถามเชิงนโยบายว่า จะขยายมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองให้ทุกระดับราคาหรือโฟกัสเฉพาะ “K ขาล่าง” ที่มีอุปสงค์แต่อำนาจซื้อไม่พอ หากมาตรการนี้เดินหน้าได้จริง คาดว่ารัฐบาลใช้วงเงินเพิ่ม 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการ “แลก” กับการกระตุ้นการโอนกรรมสิทธิ์ปีละ 6 แสนล้านบาทในกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการซื้อจริง
วงการอีเวนต์โคม่าแทบตายหมด :
นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน กล่าวว่า สถานการณ์ธุรกิจอีเวนต์อยู่ภาวะโคม่าและแทบตายหมด เพราะเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่อง เงินฝืด และถือว่ารุนแรงสุดรอบ 10 ปี โดยลูกค้าภาครัฐและเอกชนเลื่อนจ่ายเงิน ทำให้ผู้จัดงานหรือออกาไนเซอร์ต้องเบิกจ่ายเงินล่าช้า เกิดกระทบลามเป็นลูกโซ่เพราะต้องแจ้งซัพพลายเออร์ถึงการจ่ายเงินที่ช้าออกไปด้วย
ทั้งนี้ อีเวนต์ถือเป็นธุรกิจเงินสด โดยการเบิกจ่ายเงินทุกอย่างจะเกิดขึ้นหลังสิ้นสุดงาน เช่น จ่ายเงินค่าจ้างพิธีกร ศิลปิน ที่เข้าร่วมงาน แม้ภาพรวมจะค่อนข้างน่าห่วง แต่ซัพพลายเออร์ด้านแสง สี เสียง ยังเคลื่อนธุรกิจได้ เนื่องจากปีนี้ยังมีงานคอนเสิร์ต งานอีเวนต์อื่นๆที่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ดังกล่าวสร้างสีสัน
“ตอนนี้เกิดภาวะ shortage เงิน ธุรกิจอีเวนต์ทุกคนขาดสภาพคล่องหมดทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ หรือ SLM วงการแทบตายกันหมดเลย อยู่ในอาการโคม่า ซัพพลายเออร์เองรับงานมาแล้วไม่ได้เงินออกาไนเซอร์ เพราะเบิกจ่ายเงินล่าช้า ถูกเลื่อนออกไป ทั้งภาครัฐและเอกชน เหมือนเกิดสภาพเงินฝืด เงินหายไปจากระบบ”
ทั้งนี้ หากพิจารณาสภาพคล่องธุรกิจที่ตึงมือฝืดเคือง เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาด เมื่อผู้ประกอบการต้องเผาเงินหรือ Burn Cash จ่ายเงินพนักงาน แม้ไม่มีงาน หรือรายได้เข้ามา เพื่อประคองสถานการณ์ รวมถึงสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ปล่อยสินเชื่อเลย
“ไม่ใช่แค่ธุรกิจอีเวนต์ แต่เป็นทุกธุรกิจที่ช่วงวิกฤติโควิด-19 ระบาด เบิร์นแคสกันหมด จ่ายเงินเดือนพนักงานเท่าไหร่ พอพ้นโควิด-19 คิดว่าทุกอย่างจะดี กราฟเศรษฐกิจธุรกิจจะขึ้น งานจะเข้ามา แต่ไม่ใช่ กลายเป็นช่วงโควิด-19 กราฟลงไปแล้ว ตอนนี้กราฟก็ลงไปอีก”
Cash is King สำคัญทุกธุรกิจทุกช่วงเวลา
นายรัฐ ตระกูลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้บริหารร้านบาร์บีคิวพลาซ่า กล่าวว่า บริษัทถือเป็นธุรกิจขนาดกลาง ท่ามกลางปัจจัยกำลังซื้อและเศรษฐกิจมีความเปราะบาง ด้านสภาพคล่องของบริษัทยังดี และเวลานี้การรักษาสภาพคล่องสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงระยะยาวด้วย ไม่ใช่ตระหนักเรื่องสภาพคล่องเฉพาะช่วงเวลาวิกฤติ
ทั้งนี้การดำเนินธุรกิจต้องระวังการใช้เงิน อย่างการตลาดไม่มองการรัดเข็มขัด แต่ต้องใช้จ่ายให้เหมาะสม ลงทุนด้านการสื่อสารการตลาด โฆษณาจะต้องได้ผลตอบแทนที่ดีหรือ Return on Ad Spend
“Cash is King สำคัญมาก ทุกช่วงเวลา ทั้งระยะยาว และตอนนี้ บริษัทต้องมุ่งรักษาสภาพคล่องใช้เงินอย่างไรให้มีความคุ้มค่า เพราะอาจขาดทุนติดตัวแดงได้ แต่กระแสเงินสดสำคัญกับทุกธุรกิจ”
“เอสซีจี”เข้มบริหารสภาพคล่อง :
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กล่าวว่า ไตรมาส 1 ปี 2568 เอสซีจี มีกำไร 1,099 ล้านบาท และมีเงินสดคงเหลือ 43,119 ล้านบาท ส่วนกระแสเงินสด (EBITDA) ที่ 12,889 ล้านบาท
ทั้งนี้ ถือว่าสะท้อนทุกธุรกิจปรับตัวดีขึ้นตามมาตรการเสริมความเข้มแข็งทางการเงินที่ทำมาต่อเนื่อง เร่งยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันโดยลดต้นทุนการผลิตและการบริหารจัดการรวมทั้งการขยายตลาดใหม่ได้มีประสิทธิภาพ
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่าจะเน้นปรับตัวธุรกิจในจังหวะที่เศรษฐกิจโลกผันผวน โดยจะให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีกระแสเงินสดกว่า 12,211 ล้านบาท หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 64,110 ล้านบาท และต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย 4% โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อEBITDAอยู่ที่ 3.4 เท่า
นอกจากนี้ได้เตรียมแผนการใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตในหลายประเทศ รวมถึงแผนการส่งออกสินค้าไปตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง อีกทั้งบูรณาการห่วงโซ่อุปทานและการจ้างผลิตเพื่อให้ได้ต้นทุนที่แข่งขันได้ เช่น การผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในยุโรปตะวันออก
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 6 พฤษภาคม 2568