เปิด 6 ดีล "สินค้า-การลงทุน" เอเชียอาจใช้เจรจาต่อรองกับสหรัฐ
เปิด 6 ดีล "สินค้า-การลงทุน" เอเชียอาจใช้เจรจาต่อรองกับสหรัฐ ครอบคลุมตั้งแต่ LNG โปรเจกต์อแลสกา สินค้าเกษตร ยันอาวุธ
“พันธมิตรทางการค้าในเอเชียเป็นกลุ่มที่ให้ความร่วมมือมากที่สุดในการทำข้อตกลง” สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐและหัวหน้าคณะผู้เจรจาภาษีศุลกากรของสหรัฐ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยเน้นไปที่อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่สหรัฐได้เริ่มการเจรจาการค้าด้วยเป็นประเทศแรกๆ ไปแล้ว
ปัจจุบัน ประเทศที่ได้เจรจาภาษีกับสหรัฐไปแล้วประกอบด้วย เวียดนาม ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ได้เจรจาที่กรุงวอชิงตัน ดีซี เป็นรอบที่สองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ประเทศอื่นๆ จะทยอยตามมาในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ ท่ามกลางเส้นตายวันที่ 9 ก.ค. ที่กำลังใกล้งวดเข้ามาทุกขณะ
สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า ประเทศในเอเชียเตรียมที่จะใช้เรื่องการนำเข้า “พลังงาน” จากสหรัฐ เป็นตัวต่อรองในการเจรจากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อโน้มน้าวให้ลดภาษีศุลกากรตอบโต้ลง แต่การผ่อนปรนตลาดในด้านอื่นๆ เช่น ยานยนต์และเกษตรกรรม อาจทำได้ยากกว่า โดยมีสินค้าและโปรเจกต์ลงทุน 6 ด้านหลักๆ ที่น่าจับตามอง ดังนี้
ก๊าซธรรมชาติ LNG :
การรับปากว่าจะซื้อก๊าซแอลเอ็นจี (LNG) ของสหรัฐเพิ่มขึ้น แทบจะกลายเป็นดีลพื้นฐานที่หลายประเทศต้องมีในการเจรจาภาษีกับสหรัฐไปแล้ว ปัจจุบันสหรัฐเป็นผู้ส่งออกแอลเอ็นจีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังมีโครงการอื่นๆ อีกมากที่จะเริ่มดำเนินการในปีต่อๆ ไป ซึ่งจำเป็นต้องหาผู้รับซื้อ
“คาดว่าความต้องการแอลเอ็นจีในอนาคตจะเติบโตขึ้นมากจากเอเชีย ทั้งจากเศรษฐกิจที่เติบโต และการนำมาแทนที่เชื้อเพลิงที่สกปรกกว่า เช่น ถ่านหิน” อเล็กซ์ โฟรลีย์ นักวิเคราะห์ตลาดแอลเอ็นจีจากบริษัทที่ปรึกษาสินค้าโภคภัณฑ์ ICIS กล่าว “ในระยะยาว เอเชียอาจซื้อแอลเอ็นจีจากสหรัฐมากขึ้นด้วยในหลายทศวรรษหน้า”
จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า “ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม” ต่างมองว่าจะใช้การนำเข้าแอลเอ็นจีจากสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งในการเจรจาต่อรอง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจะเป็นดีลที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน
ปัจจุบันเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น “ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน” ต่างก็เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของสหรัฐอยู่แล้ว ทางด้าน “ฟิลิปปินส์และเวียดนาม” เพิ่งเริ่มนำเข้าจากสหรัฐในปี 2566
ส่วน “ประเทศไทย” คาดว่าจะนำเข้าจากสหรัฐเพิ่มเพราะการผลิตภายในประเทศที่ปรับตัวลงและและอุปทานจากเมียนมาที่ลดลงด้วย ในขณะที่ “อินโดนีเซีย” แม้จะเป็นประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติเองอยู่แล้ว แต่ก็มีรายงานว่าจะซื้อทั้งแอลเอ็นจี น้ำมันดิบ และน้ำมันเบนซินจากสหรัฐด้วย
โปรเจกต์พลังงานอะแลสกา :
นอกจากการรับซื้อก๊าซแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นแล้ว ในภาคพลังงานยังมีโครงการที่สหรัฐหมายมั่นปั้นมืออยู่กับเมกะโปรเจกต์ “โครงการลงทุนก๊าซ LNG ที่รัฐอแลสกา” มูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์
สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐเคยระบุถึงโปรเจกต์นี้ว่าเป็น “ข้อตกลงด้านพลังงานครั้งใหญ่” ที่อาจเกิดขึ้นในอแลสก้า ซึ่ง “ญี่ปุ่นและบางทีอาจรวมถึงเกาหลีใต้หรือไต้หวัน” จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงิน โดยรมว.คลังส่งสัญญาณบอกเป็นนัยว่าสิ่งนี้อาจนำไปสู่การลดภาษีศุลกากรได้
โครงการนี้ซึ่งมีการพูดถึงกันมายาวนานหลายทศวรรษ อาจเป็นประโยชน์ต่อเอเชียโดยลดระยะเวลาการขนส่งไปยังภูมิภาคเอเชียได้อย่างมาก จากปัจจุบันที่การส่งออกแอลเอ็นจีของสหรัฐส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในอ่าวเม็กซิโก และผู้ให้บริการขนส่งต้องผ่านคลองปานามาที่คับคั่งหรือใช้เส้นทางเดินทางที่ยาวนานกว่าผ่านแอฟริกา แต่โครงการที่อแลสกาจะเป็นเส้นทางขนส่งที่ตรงสู่เอเชียมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนระยะยาวและความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาโครงการนี้
JERA ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้วว่าจะพิจารณาทางเลือกนี้เป็น “แหล่งจัดหาก๊าซที่มีแนวโน้มที่ดีแหล่งหนึ่ง” ในบรรดาทางเลือกอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การลงทุนสำหรับการก่อสร้างโรงงานจริงและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาจากฝ่ายอื่นๆ ด้วย เช่น บริษัทเทรดดิ้ง
ขณะที่ อัน ด็อกกึน รัฐมนตรีกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม เเละพลังงานของเกาหลีใต้ แถลงหลังการเจรจาการค้ากับสหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า หากโครงการนี้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็อาจกลายเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่สำหรับเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม เขาแสดงความปรารถนาที่จะทำงานร่วมกับญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม และพันธมิตรอื่นๆ ในด้านนี้ต่อไป
เปิดตลาด ‘ยานยนต์’ อาจไม่ง่าย :
ทรัมป์เคยตำหนิญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ไม่ค่อยมีรถยนต์อเมริกันบนท้องถนนในสองประเทศนี้ แต่การจะเปิดตลาดนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐเพิ่มขึ้นนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนการซื้อก๊าซแอลเอ็นจี
ปัจจุบันญี่ปุ่นเกินดุลการค้ารถยนต์กับสหรัฐมูลค่า 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2567 รายงานของผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) เกี่ยวกับ “อุปสรรคการค้าต่างประเทศ” ที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนมี.ค. ระบุว่า “อุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรหลายประการ ขัดขวางการเข้าถึงตลาดรถยนต์ของญี่ปุ่น และยอดขายรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐโดยรวมในญี่ปุ่นยังคงต่ำอยู่”
ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาผ่อนปรนกฎเกณฑ์การทดสอบการชน ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ไม่ใช่การค้าที่สหรัฐวิพากษ์วิจารณ์ว่าญี่ปุ่นใช้มาตรฐานที่ไม่เหมือนใคร นอกจากนี้ยังอาจเสนอให้ขยายจำนวนรถยนต์นำเข้าที่เข้าเงื่อนไขได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษเพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์สงสัยว่าการผ่อนปรนดังกล่าวจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของรถยนต์อเมริกันได้จริงหรือไม่ ทาคาชิ อิมามูระ ประธานสถาบันมารูเบนิและผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐกล่าวว่า “การขับรถยนต์อเมริกันขนาดใหญ่และทรงพลังบนถนนที่แคบในญี่ปุ่นเป็นเรื่องยาก”
อิมามูระกล่าวเสริมว่าผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น “ได้ย้ายการผลิตของตัวเองไปยังสหรัฐตั้งแต่ทศวรรษ 1980” ซึ่งส่งผลให้ภาคการผลิตรถยนต์ในสหรัฐเติบโตขึ้น และมองว่า “คำอ้างของทรัมป์อาจเป็นเพียงกลอุบายเพื่อชิงความได้เปรียบในการเจรจาโดยรวม”
จับตา ‘สินค้าเกษตร’ :
สหรัฐกำลังพยายามขยายการส่งออกสินค้าเกษตรซึ่งรัฐบาลทรัมป์อ้างว่ากำลังเผชิญกับการกีดกันโดยภาษีที่สูงลิ่วในต่างประเทศ นอกจากประเทศผู้นำเข้าหน้าเดิมอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สหรัฐยังกดดันให้ประเทศในเอเชียอื่นๆ เช่น “อินเดียและไทย” เพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐให้มากขึ้นด้วย
ปัจจุบัน “ญี่ปุ่น” กลายเป็นด่านหน้าของแรงกดดันจากสหรัฐ รัฐบาลทรัมป์อ้างเรื่องภาษีนำเข้าข้าวที่สูงถึง “700%” ซึ่งโตเกียวได้ปฏิเสธตัวเลขดังกล่าว รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาขยายการนำเข้าข้าว ถั่วเหลือง และข้าวโพดโดยไม่เสียภาษีนำเข้า แต่แผนการดังกล่าวก็มักถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมือง ซึ่งมองว่าอาจกระทบต่อฐานเสียงเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มฐานเสียงสำคัญในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะชาวนา ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในเดือนก.ค.
แม้จะมีการอ้างถึงภาษีข้าว 700% แต่ญี่ปุ่นก็เป็นผู้นำเข้า "ข้าว" จากสหรัฐรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกในปี 2567 และเกาหลีใต้ก็เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับ 4 ทั้งสองประเทศรวมกันคิดเป็น 20% ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของสหรัฐ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ซื้อ "เนื้อหมู" จากสหรัฐรายใหญ่ โดยเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่เป็นอันดับสองและสาม โดยเฉพาะญี่ปุ่นั้นนำเข้าหมูมากกว่าจีนถึง 2.5 เท่าในปี 2567
ทั้งสองประเทศและไต้หวันรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 47% ของการส่งออกเนื้อวัวของสหรัฐ ส่วน "ข้าวสาลี" นั้น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ไทย และอินโดนีเซีย ล้วนอยู่ใน 10 อันดับแรกของการส่งออกของสหรัฐ คิดเป็น 41% ของการส่งออกทั้งหมด
"ประเทศไทย" ยังพยายามขยายการนำเข้าเนื้อวัว ข้าวโพด และถั่วเหลืองจากสหรัฐด้วย แต่ได้รับการคัดค้านจากเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
เคสึเกะ ซาโนะ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษา สถาบันวิจัยโนมูระในสิงคโปร์ กล่าวว่า การนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐมากขึ้นจะต้องใช้เวลา เนื่องจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม “หากสหรัฐต้องการขายผลผลิต เช่น ข้าวสาลี ให้กับเอเชียมากขึ้น ก็จะต้องใช้เวลามากกว่านี้ เนื่องจากต้องมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม (ของเอเชียที่เน้นข้าวเป็นหลัก)” เขากล่าว
การต่อเรือ :
“เกาหลีใต้” ซึ่งเป็นบริษัทต่อเรือรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน มีเป้าหมายที่จะยกเรื่องการต่อเรือในการเจรจากับสหรัฐด้วย โดยฝ่ายทรัมป์มีความกระตือรือร้นที่จะฟื้นฟูอุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศของสหรัฐ บนพื้นฐานของความมั่นคงแห่งชาติ เกาหลีใต้จึงมองเห็นเครื่องมือสำคัญในการเจรจา
บริษัทฮุนได เฮฟวี อินดัสทรีส์ ของเกาหลีใต้และบริษัทต่อเรือของกองทัพสหรัฐ ฮันทิงทัน อิงกัลส์ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเมื่อเดือนเม.ย. เพื่อสำรวจโอกาสในการเพิ่มการผลิตสำหรับโครงการเชิงพาณิชย์และการป้องกันประเทศ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จอห์น ฟีแลน รัฐมนตรีว่าการทบวงทหารเรือสหรัฐ ได้พบกับเก็น นากาทานิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียว และมีการขอความร่วมมือสำหรับอุตสาหกรรมต่อเรือของสหรัฐด้วย โดยสหรัฐซึ่งเคยเป็นประเทศผู้ต่อเรือรายใหญ่ สูญเสียความได้เปรียบให้กับญี่ปุ่น ก่อนจะตามมาด้วยเกาหลีใต้และจีน ปัจจุบันสหรัฐพยายามที่จะสนับสนุนให้บริษัทญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ลงทุนในอู่ต่อเรือในสหรัฐมากขึ้น
ความมั่นคง :
ทรัมป์เคยกล่าวว่าสนธิสัญญาความมั่นคงระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นเป็นข้อตกลงฝ่ายเดียว และเขาจะเรียกร้องให้ญี่ปุ่นแบ่งรับค่าใช้จ่ายไปมากขึ้นในการประจำการทหารสหรัฐในญี่ปุ่น โดยก่อนที่จะมีการเจรจาภาษีกันระหว่างฝ่ายสหรัฐและญี่ปุ่นในวันที่ 16 เม.ย. ทรัมป์ได้โพสต์โซเชียลมีเดียว่า ญี่ปุ่นจะเข้ามาเจรจาด้านภาษี รวมถึง “ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนทางการทหาร”
ต่อมาทรัมป์ได้เปลี่ยนท่าทีโดยกล่าวว่า “การทหารเป็นอีกประเด็นหนึ่งนอกจากการค้า” และ “สหรัฐจะไม่นำประเด็นนั้นไปรวมในข้อตกลงใดๆ” แต่เขาก็ยังแสดงความไม่พอใจต่อประเทศพันธมิตรโดยอ้างว่าสหรัฐ “ถูกโกง” มาหลายทศวรรษ ในขณะที่ประเทศเหล่านั้นร่ำรวยจากการทำเช่นนั้น
ในขณะที่หลายประเทศในเอเชียได้ขยายการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศ การนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐผลิตอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงนี้ด้วย ประธานาธิบดีไต้หวัน “ไล่ ชิง เต๋อ” ได้ระบุในหน้าบทบรรณาธิการและความเห็นของสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อต้นเดือนเม.ย. ว่า “การจัดหาอาวุธเพิ่มเติม” เป็นหนึ่งในมาตรการที่จะลดความไม่สมดุลทางการค้ากับสหรัฐ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 6 พฤษภาคม 2568