เปิดรายได้-ขั้นตอน กว่าจะเป็น "ไกด์" สู่ยุคไกด์เถื่อนเกลื่อนเมือง
เปิดขั้นตอนการกว่าจะเป็นไกด์ พร้อมรายได้ต่อเดือน เปิดใจปัญหาไกด์เถื่อนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไกด์ไทยทั่วประเทศ
ปัญหาสวมสิทธิ์ของไทยไม่ได้มีแค่ทุเรียน นอกจากอาชีพเกษตรกรแล้ว หนึ่งในอาชีพที่ได้รับกระทบไม่ต่างกัน “ไกด์” นำเที่ยวที่โดนกลุ่มคนที่เรียกว่า “ไกด์เถื่อน” เข้ามาแย่งงาน สร้างบรรทัดฐานใหม่ ๆ ที่ไม่ใข่ธรรมเนียมเดิมของไกด์ของไทยที่ส่วนใหญ่เป็นคนไทยด้วยกันเอง กลายเป็นว่าปัญหานี้รุกลามใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ล่าสุดรัฐบาลร่วมกับ 5 หน่วยงานเข้ามาแก้ไขปัญหาทัวร์นอมินีและมัคคุเทศก์เถื่อน ลุยตรวจสอบบริษัทนำเที่ยวและการปฏิบัติหน้าที่ของมัคคุเทศก์ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ พร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัยของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ถึงมีนาคม 2568 จากการสุ่มตรวจสถานประกอบการของบริษัทนำเที่ยวจำนวน 940 ราย และมัคคุเทศก์ 338 ราย ทำผิดของบริษัทนำเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต การไม่แสดงใบอนุญาต และการไม่ทำประกันให้นักท่องเที่ยว
ส่วนความผิดของมัคคุเทศก์ ได้แก่ การปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีใบอนุญาต และการไม่แสดงใบสั่งงาน จากตัวเลขดังกล่าว สะท้อนความ “ฝั่งรากลึก” ของปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งไกด์และนักท่องเที่ยว
ประชาชาติธุรกิจ คุยกับ “ไกด์มาร์ท-มูฮัมหมัด บุญหลัก” มัคคุเทศก์ฟรีแลนซ์ที่เดินบนเส้นทางนำเที่ยวมากว่า 16 ปี ไกด์มาร์ทเล่าว่า ปัญหาไกด์เถื่อนส่วนใหญ่เป็นต่างชาติเข้ามาแย่งงาน เพราะไกด์เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่กฎหมายสงวนให้สำหรับคนไทยเท่านั้น
ในหลักความเป็นจริง ต่างชาติที่จะเข้ามานำเที่ยวจะสามารถใช้ได้แค่สถานะ Tour Leader เท่านั้น ไม่สามารถใช้คำว่า “มัคคุเทศก์” ได้ การเข้ามาของเขาจะต้องประสานงาน และว่าจ้างไกด์คนไทยอีกที และตัวเขาก็ทำหน้าที่เป็น Translater ภาษาของคนชาตินั้นเท่านั้น
แม้ว่าอาชีพนี้ดูจะเป็นได้ง่ายตามที่ไกด์มาร์ทกล่าวว่า แค่เรียนให้จบระดับชั้นหรือเทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลาย แล้วไปต่อคอร์สของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตามงบที่รัฐบาลจัดไว้
และต้องมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนแล้วจึงเข้าอบรม 1-2 เดือน แล้วก็สามารถไปขึ้นทะเบียนก็สามารถได้ใบอนุญาตไกด์ หรือที่เขาเรียกว่า “บัตรไกด์” มา หรือถ้าเป็นสายตรงอย่างคณะเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและโรงแรม จบมาก็สามารถสอบบัตรได้เลยทันที

โดยบัตรที่ว่ามีหลายชื่อเรียก ไม่ว่าจะเป็น “ใบอนุญาตไกด์”, “บัตรไกด์” และ “ใบอนุญาตมัคคุเทศก์” โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1)ใบอนุญาตมัคคุเทศก์ทั่วไป
2)ใบอนุญาตมัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้
3)ใบอนุญาตมัคคุเทศก์ท้องถิ่น
กว่าจะเป็นไกด์ รายได้เริ่มต้น 13K :
ดูเหมือนเรียนจบอะไรมาก็สามารถเป็นได้จะทำให้การเป็นไกด์ดูไม่ยากอย่างที่คิด จากคุณสมบัติที่ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น และ
1)ระดับการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ในสาขามัคคุเทศก์หรือสาขาที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่มีวิชาเกี่ยวกับมัคคุเทศก์
2)สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ในสาขามัคคุเทศก์หรือสาขาที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่มีวิชาเกี่ยวกับมัคคุเทศก์
3)ได้รับวุฒิบัตรว่าได้ผ่านการฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์ตามหลักสูตรและสนามฝึกอบรมที่คณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กำหนด
แต่งานยากอยู่ที่ระบบการสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งใบไกด์ที่ผู้สอบจะต้องเจอกับข้อสอบ 2 หมวดหลัก ๆ ได้แก่
1)หมวดความรู้ทั่วไปสำหรับอาชีพมัคคุเทศก์ ประมาณ 70% ของข้อสอบทั้งหมด โดยจะมีทั้งส่วนที่เป็นความรู้เชิงวิชาการและความรู้ด้านทักษะอาชีพ
2)หมวดวัดความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ ประมาณ 30% ของข้อสอบทั้งหมด โดยผู้สอบจะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 60% จึงจะถือว่า “ผ่านการทดสอบ”
ส่วนเรื่องของรายได้ ไกด์มาร์ทเล่าว่า ถ้าเป็นไกด์ประจำบริษัท รายได้อย่างต่ำเริ่มต้นที่ 13,000 – 15,000 บาทต่อเดือน ไม่รวมเบี้ยเที่ยวของบางบริษัท และสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะได้รับ
ขณะที่ไกด์ฟรีแลนซ์ค่อนข้างมีความท้าทาย จะมีรายได้เป็นงาน ๆ ไป แล้วแต่การตกลงราคากันที่ขึ้นอยู่กับว่า ไปเที่ยวที่ไหน จำนวนกี่ชั่วโมง และความยากงานของทริปนั้น ๆ ขั้นต่ำอยู่ที่ 1,000 บาทต่อวัน
แม้ว่าความนิยมของไกด์จะเพิ่มมากขึ้นในช่วง High Season แต่ไกด์มาร์ทบอกว่า รายได้ของเราพิจารณาจากงานและชั่วโมงที่ทำเท่านั้น ไม่มีราคาที่พุ่งสูงเหมือนราคาโรงแรม แต่หากมีการเพิ่มจำนวนชั่วโมง อย่างการต้องพาลูกค้าไปดินเนอร์ก็คิดราคาเพิ่มเป็น 1,300-1,500 บาท
“ไกด์ฟรีแลนซ์ ถ้ามีงานก็ได้ตังค์ ถ้าไม่มีงานก็คือไม่มี ขึ้นอยู่กับบริษัทที่ติดต่อเรามา” ไกด์มาร์ท กล่าว
ขนาดเดียวกัน แม้รายได้จะขึ้นอยู่กับลูกค้า แต่ปัญหาไกด์เถื่อนก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับเม็ดเงิน แต่เห็นชัดมากจากภาพลักษณ์ของอาชีพ โดยไกด์เถื่อนที่เข้ามาทำให้ภาพรวมไกด์ไทยติดลบจากพฤติกรรมการทำงาน และการไม่ซื่อสัตย์กับลูกค้า เขาจึงอยากรัฐบาลจัดการเรื่องนี้ให้เข้มงวดขึ้นเพื่อลดปัญหาไกด์เถื่อนให้หมดไป
อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวที่จองทริปไว้กับทัวร์ หรือไกด์คนไหนก็สามารถตรวจสอบผ่านเว็บของกรมการท่องเที่ยว ได้เพียงแค่กรอกเลขที่ใบอนุญาต หรือชื่อทัวร์ หรือชื่อไกด์ก็ดูได้แล้วว่า คนนี้เริ่มเป็นไกด์เมื่อไหร่ หรือเป็นไกด์ชนิดไหน เพื่อตรวจสอบความเป็น “ไกด์แท้”
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 27 พฤษภาคม 2568