EXIM BANK แนะผู้ประกอบการรักษาสภาพคล่องรับมือเศรษฐกิจโลกชะลอ
EXIM BANK แนะผู้ประกอบการไทยรักษาสภาพคล่องทางการเงินครึ่งหลังปี 68 รับมือเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและผลกระทบมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้
ทั่วโลกกำลังจับตาความชัดเจนของนโยบายภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายรอคอยคือ การประกาศอัตราภาษีนำเข้าใหม่เป็นรายประเทศ หลังจากประเทศคู่ค้าที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯแล้ว

อัตราภาษีใหม่หลังพ้นระยะผ่อนผัน 90 วันจะส่งผลต่อการส่งออกของโลกในภาพรวม เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันส่งออกของแต่ละประเทศในตลาดสหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลง
ประเทศที่โดนเก็บภาษีนำเข้าสูงอาจไม่สามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้ สำหรับประเทศไทย หากอัตราภาษีใหม่สูงกว่าประเทศคู่แข่งทางการค้าอย่างเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกเช่นกัน
ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำการส่งออก (EXIM Index) ของไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ณ ไตรมาส 2 ปี 2568 พบว่าอยู่ที่ระดับ 100.5 ลดลงจาก 102.5 ในไตรมาสแรก ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส
สะท้อนว่า แนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาส 3 มีทิศทางชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ
โดยมีแรงกดดันหลักจากมาตรการภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ เศรษฐกิจและการค้าโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ราคาส่งออกที่ลดลง ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกที่ยังเปราะบาง
ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ได้แก่ คำตัดสินของศาลการค้าระหว่างประเทศและศาลอุทธรณ์ของสหรัฐฯ ต่อมาตรการภาษี รวมถึงความคืบหน้าของการเจรจาทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ
หากไทยสามารถตกลงในอัตราภาษีที่ไม่สูงกว่าคู่แข่ง EXIM BANK คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2568 จะยังสามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 0.5-1.5%
ดร.เบญจรงค์ กล่าวว่า ปัญหาการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันถือเป็นปัจจัยซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการโดยตรง ในสถานการณ์เช่นนี้สถาบันการเงินส่วนใหญ่มีแนวโน้มปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวังมากขึ้น โดยจะให้ความสำคัญกับลูกค้าเดิมมากกว่าการขยายฐานลูกค้าใหม่
ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพคล่องของกิจการ สำรองวงเงินสินเชื่อกับแต่ละธนาคารไว้ให้พร้อม เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด
ดร.เบญจรงค์ กล่าวต่อว่า ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจไทย เห็นได้จากสินเชื่อของสถาบันการเงินทั้งระบบหดตัวลง ซึ่งเป็นปัญหามาจากภาพรวมของเศรษฐกิจและปริมาณหนี้เสียมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สินเชื่อธนาคารเฉพาะกิจของรัฐยังมีอัตราการเติบโต ธนาคารรัฐพยายามเสริมสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ แต่ก็ช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากสินเชื่อของระบบของธนาคารพาณิชย์มีฐานที่ใหญ่มาก

EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลังพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลจากนโยบายภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ โดยได้ จัดงาน “กรรมการผู้จัดการพบพนักงาน” หรือ Town Hall Meeting หัวข้อ “จัดทัพ Upskills ฝ่ามรสุมการค้าโลกยุคทรัมป์ 2.0” เพื่อมอบนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของธนาคาร
โดยเฉพาะแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยมีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากร และปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งเร่งสำรวจและพูดคุยกับลูกค้าทุกราย เพื่อประเมินผลกระทบและหาแนวทางสนับสนุนที่เหมาะสม
ดร.เบญจรงค์กล่าวว่า EXIM BANK ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยในด้านการเงินได้มีการขยายระยะเวลาชำระหนี้สูงสุดถึง 365 วัน พร้อมมาตรการเสริมสภาพคล่อง และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการส่งออก เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการขยายตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐฯ รวมถึงบริการประกันการส่งออก เพื่อลดความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อในต่างประเทศ
“ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดจากนโยบายภาษีศุลกากรแบบตอบโต้คือ ความจำเป็นในการลดกำลังการผลิตและลดการจ้างงาน ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น"
EXIM BANK จึงเตรียม ‘ยาชุด’ สำหรับช่วยเหลือลูกค้าในกรณีที่มีความชัดเจนของมาตรการภาษี อาทิ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (Soft Loan) คล้ายกับช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาการจ้างงานและดำเนินธุรกิจต่อไปได้
สำหรับมาตรการที่ไม่ใช่การเงิน EXIM BANK ได้จัดตั้ง “คลินิกผู้ประกอบการ (Export Clinic)” เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำผ่านช่องทางการติดต่อของธนาคาร พร้อมให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ รวมถึงผลกระทบและแนวทางบริหารจัดการธุรกิจอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ยังได้ขยายความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs สามารถขยายตลาดไปยังประเทศที่มีศักยภาพ และในระยะต่อไป
EXIM BANK ยังมีแผนหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายการลงทุนในสหรัฐฯ และสนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยไม่ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการภายในประเทศ
นอกจากการค้าโลกจะเผชิญกับปัญหาจากนโยบายภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ของรัฐบาลสหรัฐฯ แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจไทยยังจะประสบกับความเสี่ยงในหลากหลายรูปแบบ อาทิ อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ความเสี่ยงผิดนัดชำระเงินค่าสินค้าส่งออก ผู้ประกอบการไทยสามารถป้องกันความเสี่ยงอย่างครบวงจร ด้วยการใช้เครื่องมือทางการเงิน
โดย EXIM BANK มีบริการสามารถช่วยบริหารความเสี่ยงอย่างครบวงจร มีบริการประกันการส่งออกที่ช่วยคุ้มครองความเสี่ยงจากการที่ผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้าส่งออกและ Foreign Exchange Forward Contract เป็นบริการสัญญาซื้อ/ขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อปิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
ผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการของ EXIM BANK สามารถปรึกษา EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 25 มิถุนายน 2568