สมาพันธ์ SME ชง 4 แนวทางแก้ไข ค้าไทย-กัมพูชา หวั่นลากยาว
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เผย 4 แนวทาง กู้เศรษฐกิจการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา เร่งระบายสินค้าไปตลาดรอง แม้กรมศุลฯจะช่วยขยายเวลาพักสินค้ารอส่งออก จากเดิม 30 วัน เป็น 2 ปีก็ตาม หวั่นความเสียหายลากยาว ฉุดการลงทุนชะงักทั้งยวง จี้รัฐต้องเคลียร์ปัญหาให้จบเร็วที่สุด ไม่งั้นได้เห็น SMEs ทยอยปิดกิจการ
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา จนนำมาซึ่งการปิดด่านชายแดน กระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งล่าสุดเกิดกรณีสินค้าของผู้ส่งออกไปยังกัมพูชา ติดค้างอยู่ที่ท่าเรือไทย เนื่องจากไม่สามารถส่งออกไปยังกัมพูชาได้
โดยสินค้าของผู้ประกอบการไทยจำนวนกว่า 200 ตู้ได้รับผลกระทบนั้น รัฐบาลควรมีแนวทาง มาตรการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบ เครื่องจักรชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ แม้ว่าขณะนี้ทางกรมศุลกากรมีแนวทางในการผ่อนปรนให้สินค้าผ่านแดนไทยไปกัมพูชา ขยายกรอบระยะเวลาได้มากกว่า 30 วัน เป็น 2 ปี
แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ฉากทัศน์ที่นำไปสู่การแก้ไขและป้องกันปัญหาเชิงรุก การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ที่ต้องหาความสมดุลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างประเทศไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้ สิ่งสำคัญ คือ การมีกลไกที่ต้องมีแรงส่งแรงผลักดันจากประชาชน ผู้ประกอบการทั้งไทยและกัมพูชาเพื่อคืนพื้นที่เศรษฐกิจให้กันโดยไม่กระทบกับความมั่นคงของประเทศ และมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน อาทิ
1)แผนรับมือการค้าชายแดนที่อาจส่งผลกระทบในระยะยาวที่ต้องมีกลไกการจัดการ Supply Chain ทั้งระบบ อาทิ ด้านแรงงาน ด้านการขนส่งโลจิสติกส์ ด้านการนำเข้าส่งออก รวมทั้งด้านตลาด
2)จัดแยกประเภทสินค้าทั้งหมดที่ค้างผ่านแดน เพื่อแยกสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษาได้ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน เพื่อร่วมกันในการระบายสินค้าไปยังตลาดรองรับอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ บริหารความเสี่ยงหากสถานการณ์ไม่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
3)การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านสถานที่พักสินค้า บริเวณใกล้เคียงด่านเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าไปพักที่อื่นที่มีระยะทางไกล
4)การเจรจาไทยและกัมพูชา เพื่อคลี่คลายปัญหาทางเศรษฐกิจร่วมกัน โดยแยกจากประเด็นปัญหาทางความขัดแย้งทางดินแดน และมีข้อตกลงที่ชัดเจนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนจะช่วยลดการเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การเจรจาเปิดด่านเศรษฐกิจที่ไม่กระทบพื้นที่ความมั่นคง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากแนวทางการแก้ปัญหาทั้งหมดยังไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว จะเกิดความเสียหาย ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่ยังรวมไปถึงผู้ค้าตามชายแดนรายเล็ก และมันจะลากยาวไปถึงนักลงทุนไทยที่อยู่ในประเทศกัมพูชาด้วย จะยิ่งฉุดให้เศรษฐกิจดิ่งลงไปอีก แน่นอนว่าจะยิ่งเห็น SMEs รายย่อยต้องปิดกิจการเพิ่มขึ้นอีก เพราะการค้าในประเทศไม่ขยายตัว การค้ากับต่างประเทศชะงัก
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 14 กรกฏาคม 2568