นักวิชาการชี้เอสเอ็มอีหวั่นศก.ปี 68 แย่กว่าเดิม ซ้ำวิ่งไม่ทันเทคโนโลยีโลกใหม่
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า งานสัมมนาพลวัตเศรษฐกิจดิจิทัล ความเสี่ยง และโอกาสทางธุรกิจ ตลาดแรงงาน ความสามารถในการแข่งขันและความเป็นธรรม ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จากการทัศนะของเอสเอ็มอีไทย ผ่านกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 ธุรกิจ กระจายในอุตสาหกรรมเกษตร การผลิต การค้าภายในประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว พบว่า ภาพรวมเศรษฐกิจตอกย้ำการฟื้นตัวขึ้นแบบเคเชฟอย่างชัดเจน คือ การฟื้นตัวเป็นรูปตัวเค แต่มุมมองระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็กแตกต่างกัน
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เอสเอ็มอีที่มีขนาดย่อย มองว่าเศรษฐกิจจะแย่ลง 41.7% ขนาดเล็ก มองว่าเศรษฐกิจจะแย่ลง 66.1% ขนาดกลางมองว่าเศรษฐกิจดีกว่า 53.7% หรืออย่างน้อยก็เท่าเดิม ทำให้ภาพรวมเอสเอ็มอีมองเศรษฐกิจจะแย่ลง 58.4% โดยผู้ประกอบการหลากหลายสาขา ทั้งภาคเกษตรกรรม การผลิต และการค้าภายในประเทศ มองว่าเศรษฐกิจจะแย่ลง ส่วนการท่องเที่ยวมองว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น สะท้อนถึงรายได้ในภาคการท่องเที่ยวที่มีการฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนปี 2568 ได้แก่ 1.การเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.อัตราดอกเบี้ย 3.เสถียรภาพทางการเมือง 4.เงินเฟ้อ และ 5.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยปัจจัยที่วิตกกังวลของเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เป็นปัจจัยเฉพาะหน้า อาทิ การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย เสถียรภาพทางการเมือง ที่เริ่มมีความสั่นคลอนมากขึ้นอีกระดับ ส่วนเรื่องระยะยาว อาทิ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเศรษฐกิจดิจิทัล เอสเอ็มอียังไม่ได้ตระหนักว่า เรื่องเหล่านี้จำเป็นและเร่งด่วนต้องดำเนินการมากนัก โดยหากมีการตระหนักมากเพียงพอ รวมถึงมีการลงทุนรองรับการเปลี่ยนแปลง จะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
“ผู้ประกอบการมองว่าเทคโนโลยีทางการเงิน ส่งผลกระทบต่อการการลงทุนปี 2568 มากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยผู้ประกอบการมากกว่า 70% ยังไม่มีแผนการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่บางส่วนมีแนวโน้มลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะภาคการค้าและการลงทุนในประเทศ ปัจจัยที่มีผลต่อการไม่ลงทุนในเทคโนโลยี เป็นเพราะขาดแคลนเงินทุน สภาพคล่อง ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ และไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี จึงขาดการเตรียมพร้อมในด้านนี้” นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการมากกว่า 50% มองว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ส่งผลกระทบทางลบต่อภาคธุรกิจ โดยการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเปลี่ยนแปลงแกนนำรัฐบาลภายใต้รัฐบาลผสมชุดเดิม เป็นปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันดับ 1-2 ที่ผู้ประกอบการมองว่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในปี 2568 แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบางอย่าง ผู้ประกอบการมองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อย อาทิ รัฐประหาร หรือการที่ฝ่ายค้านจะมาจัดตั้งรัฐบาล ส่วนในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้ประกอบการมากกว่า 90% ยังไม่มีแผนการลงทุนเทคโนโลยีดิจิทัลในปี 2568 ส่วนผู้ที่มีแผนหรืออยู่ระหว่างการลงทุน มีความคาดหวังประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าวสูงมาก รวมถึงคาดว่าการปรับตัวทางดิจิทัลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน โดยภาพรวมจากการสำรวจสะท้อนถึงเอสเอ็มอีไทยยังขาดการเตรียมพร้อมเรื่องเทคโนโลยี และมีความวิตกกังวลในหลายเรื่องต่อจากนี้
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568