"ผลิตภาพ" กับ "การพัฒนาที่มีคุณภาพสูง"
ทุกวันนี้สินค้าราคาถูกจากจีนยังครองส่วนแบ่งตลาด ในตลาดออนไลน์อย่างต่อเนื่องมานาน สินค้าออนไลน์หลายตัวจากจีน
ไม่น่าเชื่อว่า จะขายได้ราคาถูกขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ราคาวัตถุดิบในบ้านเราอย่างเดียวก็ยังสูงกว่าสินค้านั้นๆ ทั้งชิ้นอีก
เรื่องนี้ทำให้ “สินค้าของไทย” หลายๆ อย่างสู้ราคาขายของเขาไม่ได้จริงๆ เพราะ “ต้นทุนการผลิต” ของเราสูงกว่า แม้ว่าจะมี “คุณภาพ” ที่เท่ากัน สินค้าของจีนก็ยังถูกกว่าเรามาก ปัญหาเรื่อง “ความสามารถในการแข่งขัน” ของ SMEs ไทย จึงน่าเป็นห่วงไม่น้อย
นักวิชาการจำนวนมากเสนอให้ใช้ “วิธีลดต้นทุน” เพื่อต่อสู้ แต่เรื่องของการลดต้นทุนนี้ไม่ง่ายเลยจริงๆ เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ราคาต้นทุนวัตถุดิบ ประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต คุณภาพของแรงงาน การขนส่ง การบริหารจัดการ เป็นต้น
ความจำเป็นต้อง “เพิ่มผลผลิต” หรือ “เพิ่มผลิตภาพ” ในด้านต่างๆ จึงสำคัญมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะเรื่องของ (1) ต้นทุน (Cost) (2) คุณภาพ (Quality) (3) การบริการ (Service) และ (4) ความรวดเร็ว (Speed) คือ ทำอย่างไร SMEs เราจึงจะสามารถต่อสู้ในเรื่อง “ต้นทุนการผลิต” ได้ หรือเพิ่มคุณภาพของตัวสินค้าในราคาขายที่เท่ากัน หรือสูงกว่าเล็กน้อย หรือเน้นเพิ่มการให้บริการทั้งก่อนและหลังการขายให้ลูกค้าประทับใจ หรือปรับปรุงความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า เป็นต้น
ต้นทุนข้างต้นนี้ยังไม่รวม “ต้นทุนในความรับผิดชอบต่อสังคม” เช่น การประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การมุ่งเน้นความเป็นสีเขียว (Go Green) และอื่นๆ ที่แสดงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกิจการ (SDGs) หลายท่านเสนอให้ใช้แนวความคิดเรื่อง “ลีน” (Lean) โดยลดต้นทุนด้วยการกำจัดความสูญเปล่าต่างๆ ในองค์กรให้หมดไป หรือเหลือน้อยที่สุด ต้นทุนจะได้ต่ำลง
ดังนั้น ภายใต้การต่อสู้แข่งขันที่รุนแรงในขณะนี้ SMEs ไทย จึงควรหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของ “ผลิตภาพ” หรือ “การเพิ่มผลผลิต” (Productivity) ให้มากขึ้น
ในทางวิชาการแล้ว “ผลิตภาพ” (Productivity) หมายถึง อัตราส่วนระหว่าง “ผลผลิตที่ได้” จากกระบวนการผลิต (Output) (ตู้เย็น รถยนต์ การขนส่ง) กับ “ปัจจัยการผลิต” ที่ใช้ไป (Input) (แรงงาน เครื่องมือ วัตถุดิบ เครื่องจักร พลังงาน และอื่น ๆ) ซึ่งคำนวณได้จากสมการดังนี้ “ผลิตภาพ (Productivity) = ผลผลิต (Output) / ปัจจัยการผลิต (Input)”
การที่จะหาทางปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ โดยมีความเชื่อว่าเราสามารถทำสิ่งต่างๆ ในวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานนี้และทำวันพรุ่งนี้จะให้ดีกว่าวันนี้ จึงเป็นเรื่องของ “จิตสำนึก” (Mindset) ซึ่งเป็นความสามารถของมนุษย์ที่จะแสวงหาทางปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการประหยัดทรัพยากร พลังงานและเงินค่าใช้จ่าย ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันปรับปรุงและเอาจริงในทุกระดับ เพื่อการเพิ่มผลผลิตและแสวงหาความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมของประเทศไทยโดยรวมด้วย
ดังนั้น การเพิ่มผลผลิตจึงมีความสำคัญต่อองค์กรในการช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้สินค้าที่ผลิตได้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการสูญเสียต่างๆ ในกระบวนการผลิต อีกทั้งช่วยให้คนงานมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน เป็นการเพิ่มขวัญและกำลังใจในการทำงาน
เพราะคนงานได้มีส่วนร่วมในการทำงานและแก้ปัญหาองค์กร มีการเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นการเพิ่มทักษะในการทำงาน และยังเป็นการพัฒนาให้คนงานมีความรู้ความสามารถความชำนาญในหน้าที่ของเขาอย่างมืออาชีพมากขึ้น
สำหรับ “กระทรวงอุตสาหกรรม” (โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทย) ได้อธิบายความหมายของคำว่า “ผลิตภาพ” (การเพิ่มผลผลิต) ให้เป็นรูปธรรม ที่จับต้องได้เป็นเรื่องๆ อันได้แก่ PQCDSMEE (Production, Quality, Cost, Delivery, Safety, Morale, Environment และ Ethics)
แต่ถึงวันนี้ การเพิ่มผลผลิตแบบปกติธรรมดาอาจจะไม่เพียงพอแล้ว เพราะการศึกษาอย่างตกผลึกของการพัฒนาประเทศจีนจนถึงวันนี้ ได้ข้อสรุปว่า ปัจจุบันต้องเป็นยุคของ “การพัฒนาที่มีคุณภาพสูง” ไม่ใช่การพัฒนาแบบปกติแบบเดิมๆ แล้ว (คือ การพัฒนาอย่างตรงจุดตรงประเด็นที่ได้ผลเลิศและมีความสูญเปล่าน้อยสุด)
ในงานแสดงยานยนต์นานาชาติที่ปักกิ่ง เมื่อปลายปี 2567 รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีน อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดที่เจริญรุ่งเรืองของจีน ก็เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาคุณภาพสูงของจีนด้วย
ในขณะเดียวกัน จีนได้มาถึงจุดสำคัญในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ มากมาย เช่น ค่าแรงที่แพงขึ้น ข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นจากทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มาตรฐานคุณภาพที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาสู่สังคมดิจิทัลและ AI
ด้วยสาเหตุดังกล่าวและประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น จีนจึงยึดมั่นในแนวทางของ “การพัฒนาที่มีคุณภาพสูง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างนวัตกรรมและการยกระดับคุณภาพเศรษฐกิจให้สูงขึ้นเท่านั้น จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาตามรูปแบบดั้งเดิม และบรรลุการพัฒนาที่แข็งแกร่ง มั่นคง และยั่งยืนยิ่งขึ้น ภายใต้บริบทของโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ณ วันนี้ “ผลิตภาพ” ของ SMEs จึงต้องอาศัย “การพัฒนาที่มีคุณภาพสูง” ด้วย ไม่ใช่เพียงยึดมั่น “ทำน้อยได้มาก” เหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป SMEs ไทย จึงจะ “สู้เขาได้ สบายมาก”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568