เปิดผลวิจัย "คนละครึ่ง" ช่วย SME ได้จริง แต่กระตุ้นบริโภคได้เพียง 40% ของเม็ดเงิน
งานวิจัยจากจุฬาฯ เผยข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า "คนละครึ่ง" ดันยอดขายร้านค้ารายย่อยพุ่ง 174% และสร้างฐานลูกค้าใหม่ แต่กลับไม่คุ้มค่ากับงบประมาณในแง่กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะคนแค่เปลี่ยนที่จ่าย ไม่ได้จ่ายเพิ่ม ประเด็นสำคัญคือผู้บริโภคลดการใช้จ่ายนอกโครงการถึง 41% ทำให้ทุก 1 บาทที่รัฐลงทุน สร้างการบริโภคใหม่เพียง 0.4 บาทเท่านั้น
หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือโครงการ “คนละครึ่ง” ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีทั้งประชาชนที่เห็นด้วยและเห็นต่างจากมาตรการดังกล่าว
ล่าสุด รองศาสตราจารย์ (รศ.) อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานวิจัยสองชิ้นในหัวข้อ “Digital fiscal stimulus and SMEs: difference-indifferences evidence from Thailand’s half-and-half program” ซึ่งเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการดังกล่าวต่อร้านค้ารายเล็กและรายย่อย
รวมทั้งงานวิจัย “Using a no-minimum 50:50 co-pay to stimulate consumption: evidence from Thailand’s digital fiscal stimulus” ที่ศึกษาผลกระทบของมาตรการคนละครึ่งต่อการกระตุ้นการบริโภค
สำหรับงานวิจัยชิ้นแรกที่กล่าวถึงผลกระทบต่อร้านค้ารายเล็กและรายย่อย รศ.อธิภัทร ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า โครงการคนละครึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยร้านค้าขนาดเล็กที่เข้าร่วมโครงการมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กลไกสำคัญของความสำเร็จนี้คือการขยายฐานลูกค้าใหม่ให้แก่ร้านค้า ซึ่งช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจและกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการรายย่อย
ข้อเท็จจริงจากงานวิจัยพบว่า ผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็ก :
* ยอดขายเพิ่ม: โครงการช่วยเพิ่มยอดขายให้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มขึ้น 174% เมื่อเทียบกับร้านค้าที่ไม่ได้เข้าร่วม
* ฐานลูกค้าเพิ่ม: การเพิ่มขึ้นของยอดขายเกิดจากการขยายฐานลูกค้าเป็นหลัก (เพิ่มขึ้น 176%) มากกว่าการเพิ่มขนาดของคำสั่งซื้อ
* ผลกระทบเชิงบวกส่งผลต่อเนื่อง: ผลกระทบเชิงบวกยังคงอยู่แม้หลังจากสิ้นสุดโครงการ โดยร้านค้าขนาดเล็กได้รับประโยชน์ต่อเนื่องที่ชัดเจนกว่า
* ร้านค้าขนาดเล็กได้ประโยชน์สูงสุด: ร้านค้าระดับที่ 1 (ขนาดเล็กที่สุด ยอดขายรายสัปดาห์ ≤ 500 บาท) ได้รับประโยชน์เชิงเปรียบเทียบมากที่สุด โดยยอดขายเพิ่มขึ้น 407%
อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยชุดที่สอง ซึ่งมุ่งศึกษาผลกระทบต่อการบริโภคของครัวเรือน กลับพบว่าโครงการไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนักในแง่ของการกระตุ้นการบริโภคโดยรวม รศ.อธิภัทร เปิดเผยว่า จากการศึกษาพบว่าทุก 1 บาทของงบประมาณที่รัฐลงทุนในโครงการ ส่งผลให้เกิดการบริโภคใหม่เพียง 0.4 บาทเท่านั้น
ข้อเท็จจริงจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า :
* ประชาชนลดการใช้จ่ายร้านที่ไม่เข้าร่วมโครงการ: ในขณะที่โครงการช่วยเพิ่มการใช้จ่ายรวมที่รวมเงินอุดหนุนขึ้นแต่ก็ทำให้เกิดการทดแทนการใช้จ่ายอย่างมีนัยสำคัญ (ไม่ซื้อร้านที่ไม่เข้าร่วมโครงการ)
* ใช้จ่ายนอกโครงการลด: การใช้จ่ายนอกโครงการลดลง 41% ในกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการ
* ผลต่อการบริโภคภาพรวมน้อย: ความโน้มเอียงในการบริโภคหน่วยสุดท้าย (MPC) อยู่ที่ 0.4 MPC นี้ใกล้เคียงกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม แต่ต่ำกว่าโครงการคูปองดิจิทัลของจีนอย่างมาก (MPC ≥ 3)
* จังหวัดรายได้ต่ำได้ประโยชน์: จังหวัดที่มีรายได้ต่ำตอบสนองต่อการบริโภคได้ดีกว่า (MPC 0.55) เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่มีรายได้สูงกว่า (MPC 0.32)
สาเหตุสำคัญของประสิทธิภาพที่ต่ำในการกระตุ้นการบริโภค เนื่องมาจากผู้เข้าร่วมโครงการมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยลดการซื้ออาหารจากร้านค้าที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคมากกว่าการเพิ่มปริมาณการบริโภคโดยรวม
"โครงการคนละครึ่งประสบความสำเร็จในการสนับสนุน SME และขยายฐานลูกค้าใหม่ให้กับร้านค้าเล็ก แต่หากพิจารณาในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค โครงการนี้ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากเกิดการโยกย้ายการบริโภคมากกว่าการสร้างการบริโภคใหม่" รศ.อธิภัทร กล่าว
งานวิจัยทั้งสองชิ้นยังระบุถึงความสำคัญและนัยเชิงนโยบายไว้ว่า
* โครงการนี้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงสู่กลยุทธ์ดิจิทัลในการกระจายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
* การไม่มีข้อกำหนดการใช้จ่ายขั้นต่ำช่วยเพิ่มการเข้าถึง แต่อาจลดประสิทธิภาพในการกระตุ้นการใช้จ่ายใหม่
* ผลการวิจัยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการออกแบบโครงการที่สมดุลระหว่างการเข้าถึงกับผลกระทบต่อการบริโภค
* แพลตฟอร์มดิจิทัลสามารถเร่งการกระจายเงินอุดหนุนได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับวิธีการแบบดั้งเดิม
* ค่าใช้จ่ายของโครงการทั้งหมดเกิน 1.5 แสนล้านบาท (ประมาณ 1% ของ GDP ของไทย)
ท้ายที่สุด งานวิจัยทั้งสองใช้วิธีการ difference-in-differences โดยใช้ข้อมูลรายสัปดาห์ระดับจังหวัดจาก LINE MAN Wongnai ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มส่งอาหารรายใหญ่ในประเทศไทยที่มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการมากกว่า 70%
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 3 มีนาคม 2568