SMEs อ่วมพิษทรัมป์ 2.0 วอนไทยใช้วิธีการทูต-ไม่ตอบโต้ภาษีคืน
7 โมเดลแก้เศรษฐกิจในประเทศของจีน เมื่อครั้งที่ถูกสหรัฐออกมาตรการกีดกันทางการค้าตั้งแต่สมัยทรัมป์ 1.0 ถูกนำมาตั้งคำถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทยจะ Copy มาใช้ เพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤต “ทรัมป์ 2.0” ครั้งนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าภาคการส่งออกของไทยเองพึ่งพาตลาดสหรัฐ 18% ในส่วนนี้เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สูงถึง 20% มูลค่า 7,634 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมีส่วนแบ่งของการส่งออกไทยไปสหรัฐที่ 14%
อีกทั้งยังเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 2 รองจากจีน แม้จะดูสัดส่วนที่ไม่มาก แต่เมื่อถูกมาตรการทางภาษีกีดกันขึ้นมา กลับเห็นผลกระทบที่รุนแรงนับแสนล้านบาท และคงไม่ใช่แค่ผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น แน่นอนว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะลากยาวไป 4 ปี นั่นหมายถึงจนกว่าทรัมป์จะหมดวาระการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐลง ซึ่งไทยเองควรตั้งรับ และหาวิธีการในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ตั้งนานแล้ว ใช่หรือไม่

ไส้ใน 7 โมเดลจีนกระตุ้น ศก. :
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า จีนตอบโตสหรัฐมาโดยตลอดด้วยการตั้งกำแพงภาษีเช่นกัน ขณะเดียวกันยังพยายามกู้เศรษฐกิจในประเทศให้กลับมา ด้วย 7 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ 1.เพิ่มค่าใช้จ่ายรัฐ ด้วยการออกพันธบัตรเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินในระบบ 2.ทำ FDI ดึงดูดการลงทุนต่างชาติเข้ามา ส่งเสริมธุรกิจร่วมลงทุนที่ได้ประโยชน์กับประชาชนในประเทศ 3.ส่งเสริมเอกชนในการลงทุนภายใต้นโยบายทำตลาดหนึ่งเดียว
4.เน้นลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมแห่งอนาคต อย่าง 6G รวมถึงตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาดูแล 5.เพิ่มงบฯทางการทหาร เพื่อใช้คานอำนาจและต่อรองกับสหรัฐ 6.เพิ่มพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศด้วยนโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบ ที่ออกมาในรูปแบบของการส่งเสริมการค้าเสรีที่ต้องไม่กระทบเศรษฐกิจของจีน 7.กระตุ้นการบริโภค จ้างงานในประเทศด้วยการอุดหนุนการดูแลสุขภาพ รวมถึงบำนาญขั้นต่ำ
แนะ 5 ทางรอด SMEs ไทย :
สำหรับประเทศไทยเอง ทางรอดมีไว้ 5 ทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่ต้องทำทุกข้อ นั่นหมายถึง
1)ไทยต้องทำยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่และการค้าการลงทุนของประเทศ ทั้งในส่วนที่ส่งออกขายตรงไปสหรัฐ และส่วนที่เป็นซัพพลายเชน ซึ่งจำเป็นต้องดูทั้งหน้ากระดาน ไม่ใช่แค่ผลกระทบจากสหรัฐ แต่ต้องมีกลยุทธ์การลงทุนกับประเทศที่ไทยจะได้รับผลกระทบด้วยเพื่อสร้างจุดแข็งของไทย หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ไทยเองก็เคยได้รับบทเรียนจากทรัมป์ 1.0 แล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารแปรรูป เกษตร เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ต่างจากครั้งนั้น การทำให้สินค้ามีมาตรฐาน ใช้เทคโนโลยี ใช้นวัตกรรม จึงเป็นทางรอดหนึ่งที่ควรต้องเกิดในทรัมป์ 2.0 เช่นกัน
2)ไทยต้องมีอุตสาหกรรมมูลค่าสูง การส่งออกยางไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ยางแปรรูปด้วยการใช้นวัตกรรมที่สูงขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่า คือ ตลาดใหม่ของ SMEs ไม่ต่างจากเปลือกข้าว ซึ่งรู้หรือไม่ว่าสามารถผลิตเป็นซิลิกาได้ และมันยังมีมูลค่าแพง ทะลุไปถึงกิโลกรัมละ 1 แสนบาทได้ เช่นเดียวกันกับสมุนไพรจากส่งออกแบบแห้ง สารสกัด จะเพิ่มมูลค่ากับตลาดนี้ได้อย่างมหาศาล
3)อุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสสำคัญ นั่นคือ สินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ที่มีอยู่กว่า 200 รายการ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ รวมไปถึง BCG อุตสาหกรรมการแพทย์และความงาม คือ โอกาสที่ไทยสามารถรุกตลาดใหม่และยังขยายเพิ่มได้ในตลาดสหรัฐ
4)สร้างอุตสาหกรรมและการลงทุนภายในประเทศ เช่น การลงทุนของกลุ่มซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชั่น อีคอมเมิร์ซ การท่องเที่ยว ในข้อนี้ไม่เพียงจะเห็นตัวเลขการลงทุน แต่ยังเห็นการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น การเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นตามมา
5)การเจรจาการส่งเสริมการลงทุนของ SMEs โจทย์ในข้อนี้เพื่อให้รายเล็กใช้ประโยชน์จากการค้าเสรี (FTA) และเพื่อให้ไทยรับมือกับนโยบายการค้า ที่ไม่ใช่แค่สหรัฐเท่านั้น
2 เดือน SMEs ส่งออกโต 39% :
แม้ว่าสัญญาณการขึ้นภาษีของสหรัฐจะเตือนมาตั้งแต่กลางปี 2567 ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ยังแสดงให้เห็นว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 SMEs เองยังคงส่งออกไปสหรัฐ มูลค่าถึง 1,440 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 39.6% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ 5 ลำดับแรก ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักร อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ และพลาสติก คิดเป็นสัดส่วน 75% ของมูลค่าส่งออกของ SMEs ไปยังสหรัฐทั้งหมด
แน่นอนว่าผลกระทบจากมาตรการขึ้นกำแพงภาษีครั้งนี้ สสว.จึงประมาณการว่า มูลค่าส่งออกของ SMEs ไทยไปยังสหรัฐ ปี 2568 จะลดลง 1,128 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 38,300 ล้านบาท และอาจส่งผลให้ GDP SMEs ลดลง 0.2% จากที่ประมาณการขยายตัวไว้ที่ 3.5% ความรุนแรงของผลกระทบดังกล่าว ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองของรัฐบาลไทย รวมทั้งมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าอื่น ๆ
SMEs 12 กลุ่ม 3,700 รายอ่วม :
ขณะเดียวกันจะมีสินค้า 12 กลุ่มหลักที่พึ่งพิงการส่งออกไปสหรัฐ ในสัดส่วนที่เกินกว่า 10% หรือกว่า 3,700 ราย คือ 1.กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้า มูลค่าส่งออก 2,792 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนของ SMEs 34% พึ่งพาตลาดสหรัฐ 59% จำนวนผู้ส่งออก SMEs 914 ราย 2.กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่าส่งออก 758 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน SMEs 45% พึ่งพาตลาดสหรัฐ 19% มีจำนวน 885 ราย 3.กลุ่มเครื่องจักรและส่วนประกอบ มูลค่าส่งออก 466 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน SMEs 25% พึ่งพาตลาดสหรัฐ 52% จำนวน 156 ราย 4.กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ มูลค่าการส่งออก 432.15 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน SMEs 45% พึ่งพาตลาดสหรัฐ 68% จำนวน 400 ราย
5.ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า มูลค่าการส่งออก 181.07 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน SMEs 24% พึ่งพาตลาดสหรัฐ 31% จำนวน 422 ราย 6.ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่าการส่งออก 116 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน SMEs 8% พึ่งพาตลาดสหรัฐ 21% จำนวน 138 ราย 7.ของปรุงแต่งทำจากพืชผักผลไม้ มูลค่าการส่งออก 73.97 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน SMEs 10% พึ่งพาตลาดสหรัฐ 14% จำนวน 293 ราย 8.อะลูมิเนียมและของทำด้วยอะลูมิเนียม มูลค่าการส่งออก 68.23 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน SMEs 55% พึ่งพาตลาดสหรัฐ 53% จำนวน 74 ราย 9.เครื่องแต่งกายถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ มูลค่าการส่งออก 50.67 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน SMEs 17% พึ่งพาตลาดสหรัฐ 41% จำนวน 190 ราย
10.ธัญพืช มูลค่าการส่งออก 42.00 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน SMEs 5% พึ่งพาตลาดสหรัฐ 11% จำนวน 85 ราย 11.กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่าส่งออก 24 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน SMEs 16% พึ่งพาตลาดสหรัฐ 16% จำนวน 121 ราย 12.กลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป มูลค่าส่งออก 14 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน SMEs 7% พึ่งพาตลาดสหรัฐ 49% จำนวน 30 ราย
ดังนั้น การปรับตัว คือ สิ่งแรกที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน หนีไม่พ้นการมุ่งเน้นการค้นหาตลาดใหม่และคู่ค้าในภูมิภาค รวมทั้งหาประโยชน์จากกฎเกณฑ์การค้าผ่านข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และใช้ฐานการผลิตจากประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาษี อีกฝั่งคือ รัฐบาลควรสนับสนุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุน และเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน ทำให้ภาคเอกชนสามารถบริโภคได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออก และกระตุ้นการท่องเที่ยว การตอบโต้ด้วยวิธีทางการทูต การค้า ทูตพาณิชย์ ด้วยการเจรจาหาความต้องการของสหรัฐ และลดผลกระทบกับเรา ย่อมดีกว่าการตอบโต้ด้วยกำแพงภาษี
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 10 เมษายน 2568