กางแผนยกระดับ SMEs วางเป้าสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 2.1 พันล้าน
จากสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ไทยต้องมองหาการเติบโตรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับบริบทการค้าโลกที่ต้องเติบโตแบบยั่งยืนและมีฐานทางธุรกิจที่กว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะการเติบโตของเศรษฐกิจชุมชน ที่จำเป็นต้องผลักดันผ่านการสร้างเอกลักษณ์และจุดเด่นสินค้าและบริการของแต่ละพื้นที่ให้มีความแตกต่าง รวมถึงต้องแข่งขันได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่ได้สินค้าและบริการมีมูลค่าสูง ดังนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้จัดทำแผนพัฒนาธุรกิจ SMEs ปี 2568 ขึ้น
สร้างการมีส่วนร่วมดันเศรษฐกิจชุมชน :
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า แผนพัฒนาธุรกิจ SMEs ปี 2568 จัดทำผ่านกลไกการเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาประเทศ ให้มีความสอดคล้องกันในทุกระดับ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับโอกาสและศักยภาพของผู้ประกอบการแต่ละพื้นที่ เพราะเป้าหมายหลัก คือ ต้องการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจท้องถิ่นนิยม โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศจากมุ่งให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเมือง และพึ่งพาการลงทุนจากชาวต่างชาติเป็นหลัก มาเป็นการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เป็นเศรษฐกิจท้องถิ่นนิยมที่มีความเป็นสากล
โดยใช้เศรษฐกิจท้องถิ่นนิยมขับเคลื่อนบริบทเศรษฐกิจประเทศ โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดันให้ท้องถิ่นเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สร้างความมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมาก เพราะความมีส่วนร่วมจะทำให้เกิดแนวคิด ความคิดเห็น และรูปแบบการพัฒนาที่สามารถยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างมีทิศทาง ที่จะเป็นกำลังหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศให้มีความแข็งแกร่งได้
เป้าผู้ประกอบการ 1.5 หมื่นคน :
ทั้งนี้ กรมจึงได้กำหนดแผนปฏิบัติงานเพื่อให้สอดรับกับการยกระดับผู้ประกอบการชุมชนสู่การเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจท้องถิ่นนิยม ผ่าน 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่
1)สร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยี
2)พัฒนาสู่มาตรฐานการบริหารจัดการที่ดีเทียบเท่าระดับสากล และ
3)สร้างโอกาสทางการตลาดและขยายเครือข่ายทางธุรกิจ โดยปี 2568 กรมได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาผู้ประกอบการ จำนวน 15,000 ราย สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2,100 ล้านบาท
เน้นธุรกิจแฟรนไชส์-โลจิสติกส์ :
นอกจากนี้ เพื่อให้เดินหน้าไปตามแนวทางปฏิบัติงาน กรมจึงได้กำหนดธุรกิจเป้าหมายและแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจ SMEs ของไทยที่สำคัญ เพื่อที่จะสามารถยกระดับเศรษฐกิจและผู้ประกอบการได้ตามเป้าหมาย คือ 1.สร้างโอกาสทางการตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ โดยแผนปี 2568 กรมจะดำเนินการผลักดัน
1.1)พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์รายใหม่ (Franchise B2B)
1.2)ยกระดับสู่เกณฑ์มาตรฐานธุรกิจแฟรนไชส์
1.3)จัดประกวด Thailand Franchise Award 2025
1.4)นำผู้ประกอบการแฟรนไชส์เข้าร่วมกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ
1.5)พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยก้าวสู่สากล (Thai Franchise Towards Global) เป้าหมายรวม 750 ราย
(2)สร้างศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทย โดยแผนปี 2568 จะดำเนินการ คือ พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจโลจิสติกส์ เน้นการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและเงื่อนไขการส่งมอบ (Incoterm) เพื่อให้ดำเนินการผ่านพิธีศุลกากรได้อย่างถูกต้อง ยกระดับมาตรฐานผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ด้วย ISO 9001
ยกระดับค้าปลีกสู่สมาร์ทโชห่วย :
(3)ส่งเสริมร้านอาหารไทยให้ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT โดยแผนปี 2568 จะดำเนินการปรับภาพลักษณ์ (Rebranding) ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT สร้างการรับรู้ Soft Power อาหารไทย ร้านอาหารไทย เป้าหมายรวม 300 ราย
(4)ส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพและความงาม และธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ จะจัด Workshop ในหลักสูตรพลิกเกมธุรกิจ Wellness ให้ปังด้วยพลังดิจิทัลและเครือข่ายธุรกิจจำนวน 3 ครั้ง กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และภูเก็ต นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานนำเสนอและเจรจาจับคู่ธุรกิจ ภายในงาน Thailand Wellness & Healthcare Expo 2025 เป้าหมายรวม 200 ราย
(5)ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก (โชห่วย) ปัจจุบันมีนิติบุคคลธุรกิจค้าส่งค้าปลีก 22,935 ราย กรมจะดำเนินการพัฒนาร้านค้าปลีกรายย่อยเป็น “สมาร์ทโชห่วย” ประกอบด้วย 5.1 เสริมสร้างองค์ความรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการให้แก่ร้านค้าโชห่วย รวมถึงร้านค้าปลีกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เน้นการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เป้าหมาย 2,700 ราย 5.2 พัฒนาสมาร์ทโชห่วย โดยมีผู้เชี่ยวชาญร่วมกับทีมงานพี่เลี้ยงโชห่วยดำเนินการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า เป้าหมาย 150 ร้าน 5.3 ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการ เป้าหมาย 150 ร้าน 5.4 พัฒนายกระดับคุณภาพการบริหารจัดการเป็น “ห้างท้องถิ่นต้นแบบ” 5.5 ส่งเสริมการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เป้าหมาย 30 ร้าน
6.ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมากรมจะจัดอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อส่งเสริม SMEs ด้าน Digital Marketing เป้าหมาย 5,950 ราย พัฒนาชุมชนออนไลน์ต้นแบบ Digital Village ชุมชนสร้างสรรค์สู่การแข่งขันการค้าออนไลน์ เป้าหมาย 20 ชุมชน 4 ภูมิภาค
สร้างเครือข่าย Biz SHOP :
7.เสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรภาคเอกชนทางธุรกิจ เช่น MOC Biz Club โดยแผนปี 2568 นี้จะดำเนินการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจ เปิดร้าน Biz SHOP จำนวน 10 ร้าน 10 จังหวัด และขยายให้ครบ 77 จังหวัดภายในปี 2570 ปัจจุบันมีร้าน Biz SHOP 13 ร้าน 12 จังหวัด ขณะที่สมาคมการค้า กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้บริหาร/เจ้าหน้าที่สมาคมการค้า และธุรกิจที่เป็นสมาชิกสมาคมการค้า กรมจะดำเนินการควบคู่กับการกำกับดูแลสมาคมการค้าให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สมาคมการค้า พ.ศ. 2509 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้แก่สมาคมการค้า ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคธุรกิจ
ปัจจุบันประเทศไทยมีสมาคมการค้า 1,218 สมาคม และผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกัน ทำให้เกิด “ห่วงโซ่มูลค่า : Value Chain” สร้างโอกาสทางการค้าและต่อยอดธุรกิจระหว่างสมาคมการค้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายรวม 400 ราย
อัดคอร์สอบรมแบบเข้มๆ :
8.แหล่งเรียนรู้เพื่อ SMEs (e-Learning) ปัจจุบันได้เปิดให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะการบริหารจัดการธุรกิจผ่าน dbdacademy.dbd.go.th จำนวน 4 หลักสูตร 38 วิชา ซึ่งในแผนงานปี 2568 จะเพิ่มเติมอีก 3 หัวข้อวิชา ได้แก่ วิชาเส้นทางสู่ความสำเร็จธุรกิจร้านอาหาร วิชารู้ทันภูมิรัฐศาสตร์สร้างโอกาสธุรกิจไทย และวิชา AI for Business ทำให้ปี 2568 จะเพิ่มเป็น 4 หลักสูตร 41 วิชา ปัจจุบัน (ตุลาคม 2567-กุมภาพันธ์ 2568) มีผู้จบหลักสูตรแล้ว จำนวน 18,006 ราย
9.ธุรกิจครอบครัว (Family Business) เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดโครงการ Family Business Thailand เพื่อสร้างธุรกิจครอบครัวของไทยให้มีความเข้มแข็ง โดยแผนปี 2568 จะเสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัว จำนวน 2 ครั้ง เป้าหมาย 200 ราย และบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
10.ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน โดยใช้ไม้ยืนต้นและธุรกิจร้านอาหารเคลื่อนที่ (Food Truck) เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น
11.พัฒนาศักยภาพตลาดธุรกิจชุมชนด้วยหลักการ Smart Local แผนงานปี 2568 จะขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนด้วย Smart Skill แบ่งเป็น 11.1 Smart Local Clinic คลินิกธุรกิจ 4 ครั้ง 4 ภูมิภาค 11.2 Smart Local Camp ค่ายบ่มเพาะทางธุรกิจ 1 ครั้ง 11.3 Smart Local Connect เชื่อมโยงธุรกิจ 1 ครั้ง 13.4 Smart Local Communication ส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างโอกาสทางการค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยปี 2568 ได้กำหนดเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนรวม 362 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 118 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี แผนพัฒนาธุรกิจ SMEs ปี 2568 ที่กรมจะเดินหน้านั้น ก็เพื่อมุ่งเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับโอกาสและศักยภาพของแต่ละจังหวัด หากมีการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจท้องถิ่นได้ ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นไปสู่ระดับประเทศได้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 18 เมษายน 2568