ลุยแก้สภาพคล่อง SMEs ดันตั้งกองทุนแสนล้าน สู้วิกฤตจีนถล่มตลาด
คัมแบ็กอีกครั้งสำหรับ ดร.ณพพงศ์ ธีระวร กับเก้าอี้ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย วาระปี 2568-2569 พร้อมกับสโลแกน "เพื่อนช่วยเพื่อน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย"
ทั้งนี้ได้ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงวิสัยทัศน์ และจุดยืนในการขับเคลื่อนสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย รวมถึงปัญหาของเอสเอ็มอีที่สะสมมาต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการขาดสภาพคล่องรุนแรง ขณะที่ GDP SMEs ปีนี้จะเติบโตได้หรือไม่ต้องติดตาม
ดร.ณพพงศ์ เริ่มต้น ด้วยการพุ่งเป้าไปที่ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ของผู้ประกอบการ SMEs ในขณะนี้ว่า มีต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น จากสงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความขัดแย้งระหว่างประเทศส่งผลให้ราคาวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของ SMEs เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด SMEs ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายสาขาและธุรกิจออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากประเทศจีน หากไม่มีการสนับสนุนหรือออกกฎหมายเพื่อสร้างแต้มต่อให้ SMEs แล้ว ก็จะทำให้ SMEs อยู่รอดได้ยากขึ้น

ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน SMEs จำนวนมากประสบปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เนื่องจากขาดหลักประกันหรือมีคุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์ ทำให้ต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศที่ลดลง หนี้ครัวเรือนของไทยสูงขึ้นมาก ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผลให้ยอดขายของ SMEs ลดลงอย่างมาก
พุ่งเป้าช่วยเหลือและบรรเทา :
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ในสถานการณ์เศรษฐกิจซบเซา สมาพันธ์ฯจะพุ่งเป้าไปที่ประเด็นสำคัญคือ เร่งช่วย SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องและช่วยให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งสมาพันธ์ฯจะเข้าหารือกับสถาบันการเงินของรัฐเพื่อผลักดันให้มีมาตรการผ่อนปรน เช่น การขยายเวลาผ่อนชำระ การลดอัตราดอกเบี้ย หรือการให้วงเงินกู้ฉุกเฉิน
นอกเหนือจากนี้สมาพันธ์จะนำเสนอรัฐบาลให้จัดตั้งกองทุนเพื่อให้ SMEs สามารถกู้เงินในภาวะวิกฤตโดยมีดอกเบี้ยตํ่า ในส่วนของสมาพันธ์จะมีการอบรมความรู้ด้านการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนการเงินและบริหารหนี้สินได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้จะต้องพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพ SMEs โดยสมาพันธ์ฯจะจัดตั้งคลังปัญญา SME ไทย ร่วมกับสถาบันการศึกษา และสถาบันการเงิน เพื่อนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในการลดต้นทุน และสร้างผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงการจัดอบรมการตลาดดิจิทัล เช่น การขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ การโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดีย และการสร้างเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำการตลาดและขายสินค้า รวมถึงเสนอมาตรการเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน
สาเหตุหลักขาดสภาพคล่อง
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจ SMEs ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ไล่ตั้งแต่ยอดขายลดลง เนื่องจากการเข้ามาการแข่งขันของธุรกิจจีนที่มีราคาตํ่ามาก ๆ ความเชื่อมั่น ในเศรษฐกิจที่ลดลงและภาระหนี้ที่ล้นตัว ทำให้ประชาชนระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอย และการขาดองค์ความรู้ในการบริหารกระแสเงินสด รายได้ไม่พอรายจ่าย ประมาณการรายได้ที่ผิดพลาด เช่น การให้เครดิตการค้ามากเกินไป รวมถึงการกู้เงินจากแหล่งนอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงเกินไป ทำให้มีภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้การบริหารจัดการต้นทุนไม่ดี ต้นทุนการผลิตมีราคาวัตถุดิบหรือค่าขนส่งเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาขายได้ ขณะที่ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ธนาคารมักจะเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะกับธุรกิจที่กำลังขาดสภาพคล่อง
รับมือความท้าทายเศรษฐกิจ :
ดร.ณพพงศ์ กล่าวอีกว่า ในช่วง 2 ปีนับจากนี้ (2568-2569) สมาพันธ์เอสเอ็มอีฯ จำเป็นต้องเร่งดำเนินการในหลายด้าน เพื่อรองรับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs ดังนี้
(1)ประสานกลไกการเงินภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและการเข้าถึงเงินทุนของ SMEs
(2)สร้างทีมคลังปัญญา SME เพื่อเป็นศูนย์กลางในการกระจายองค์ความรู้ที่ทันสมัยให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ในการทำธุรกิจ,ช่องทางและแนวทางในการทำตลาด Online และการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ต่อยอดในธุรกิจ
(3)จัดตั้ง SME คลังสมองเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับคนเก่งของประเทศ มีเวทีในการร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหา และส่งเสริม SMEs ต่อไป
(4)สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสมาพันธ์ และกลไก SMEs ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานในหลากหลายมิติให้ SMEs
(5)ตั้งทีมกฎหมายเพื่อช่วยผลักดันมาตรการสนับสนุน SMEs และผลักดันการออกกฎหมายใหม่ ๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้ SMEs ไทย และบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจังต่อผู้ประกอบการข้ามชาติ เช่น เร่งออกกฏหมายคุ้มครองและสงวนสิทธิ์ในอาชีพที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) และเกษตรกรแปรรูป ให้กับคนไทยเท่านั้น เช่น ที่กิน ที่นอน ที่เที่ยว ที่ Shopping รวมถึงผลิตภัณฑ์ชุมชน และอุตสาหกรรมเกษตร
ทั้งนี้ เมื่อปี 2567 สถานะของ SMEs มีประมาณ 3.2 ล้านราย ประเทศไทยมีมูลค่า GDP อยู่ที่ 18.58 ล้านล้านบาท และมี GDP SME อยู่ที่ 35% หรือมีมูลค่า 6.5 ล้านล้านบาท และในปี 2568 นี้ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยคาดว่า GDP SME จะโตขึ้น 4-5% โดยคาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 6.76 - 6.83 ล้านล้านบาท
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 30 เมษายน 2568