นักวิชาการ เตือนรัฐบาลทบทวนมาตรการศก. รับ มูดีส์ ปรับเครดิตเรตติ้งไทย
นักวิชาการ ประเมินผลกระทบ มูดีส์ ปรับลดแนวโน้มเครดิตเรตติ้งไทย เป็น "เชิงลบ" สะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจเพิ่มสูง แนะนำรัฐบาลทบทวนมาตรการทางด้านเศรษฐกิจใหม่ พร้อมจับตาสถานการณ์ต่อเนื่อง
กรณีของมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody's) ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงสู่มุมมอง "เชิงลบ" (Negative) จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (Stable) หลังสะท้อนความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า การปรับลดครั้งนี้เป็นเพียงการปรับในส่วนของ Outlook หรือแนวโน้มทิศทางว่ามีแนวโน้มแย่ลง ไม่ใช่การปรับลดตัวเครดิตเรตติ้ง ทำให้ต้นทุนการเงินและการกู้ยืมน่าจะยังไม่เพิ่มขึ้นในทันที
"การที่มูดีส์ระบุว่าแนวโน้มดูแย่ลง เป็นสัญญาณเตือนว่าความเสี่ยงในปัจจุบันและอนาคตมีสูงขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องออกนโยบายที่เหมาะสมเพื่อพลิกฟื้นทิศทางให้ดีขึ้น และต้องไม่ซ้ำเติมให้สถานการณ์แย่ลง" นายนณริฏ ระบุ
นายนณริฏ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายทั้งจากภัยคุกคามใหม่อย่างนโยบายของทรัมป์ และปัญหาเดิมที่สะสมมา เช่น หนี้ครัวเรือนระดับสูง และหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นภาครัฐควรมุ่งเน้นนโยบายที่แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่มาตรการลดแลกแจกแถมระยะสั้นที่ก่อหนี้โดยไม่ได้สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงในระยะยาว
นายนณริฏ กล่าวถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตว่าไม่ควรดำเนินการแล้ว เนื่องจากมีประสิทธิภาพต่ำ และการประเมินล่าสุดพบว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเพียงประมาณร้อยละ 1 ของ GDP เศรษฐกิจจึงไม่ได้หดตัวถึงขนาดที่ต้องใช้มาตรการกระตุ้นระยะสั้น แต่สิ่งเร่งด่วนของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้คือต้องเร่งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จำเป็นมากกว่า
ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ประเมินว่า กรณีการปรับลดแนวโน้มเครดิตเรตติ้งไทยของมูดีส์ เป็นสัญญาณสำคัญที่รัฐบาลต้องกลับมาทบทวนแนวทางการประคับประคองเศรษฐกิจโดยด่วน และต้องดูแนวโน้มเครดิตเรตติ้งประเทศต่าง ๆ ประกอบกันด้วย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 30 เมษายน 2568