สมาคมฯ ร่วมงานเสวนาระดมสมองภายใต้โครงการเสวนาวิชาการการขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างไทยกับเวียดนามฯ
ว้นพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2567 คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, นายกสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม พร้อมด้วยคณะหกรรมการสมาคมฯ ได้เข้าร่วมงานเสวนาระดมสมองภายใต้โครงการเสวนาวิชาการการขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างไทยกับเวียดนาม ภายใต้ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยง 3 ด้าน (Three Connects) จัดโดย ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ
โดยมีคุณปิยภักดิ์ ศรีเจริญ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดการเสวนา, ผศ.ดร.ฐิติรัตน์ ปั้นบำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษาฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต้อนรับ และได้รับเกียรติจาก H.E. Mr. Pham Viet Hung เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประจำประเทศไทย ร่วมงานและขึ้นกล่าวแสดงความยินดี
คุณสนั่น อังอุบลกุล ได้ปาฐกถาในหัวข้อ “สู่การเติบโตร่วมกัน : โอกาสและความท้าทายของไทย-เวียดนาม ในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน Connecting Supply Chains)” โดยมีประเด็นต่างๆ ดังนี้
“สำหรับในช่วงที่ผ่านภาครัฐและภาคเอกชนทั้งสองประเทศยังได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน และหน่วยงาน ที่สำคัญ เช่น การจัดตั้ง Team Thailand Plus ที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนของฝั่งไทย ในการเป็นเวทีรับฟังข้อเสนอแนะ และแนวทางที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาการค้า การลงทุน ในประเทศเวียดนาม ผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย มี ThaiCham หรือ สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม, สภาธุรกิจไทย – เวียดนาม, สมาคมมิตรภาพไทย - เวียดนาม ที่ปัจจุบันผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกสมาคมฯ เราให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในระหว่างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ของทั้ง 2 ประเทศคือกลุ่ม Start up และ Young Entrepreneur หรือกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC หอการค้าไทย ทั้งนี้ไทยและเวียดนามมีการตั้งเป้าหมายว่าในปี 2025 จะมีการเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นให้ถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากการที่มีการแสดงความคิดเห็นในหลากหลายแง่มุมและการนำเสนอจากสื่อต่าง ได้มีการพูดถึงศักยภาพของเวียดนามว่า จะเป็นมังกรแห่ง ASEAN เศรษฐกิจเวียดนามจะแซงหน้าไทยแล้วนั้นซึ่งถ้าเรามองดูปัจจัยบวกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนามอย่างต่อเนื่องอาทิ
จำนวนประชากรและตลาดแรงงานที่มากกว่าไทย ประชากร 100 ล้านคน มีประชากร 6 ล้านคนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป อีก 94 ล้านคนอายุต่ำกว่า 60 ปี, จำนวนนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายในปี 2030 จะมีจำนวนชนชั้นกลาง 30 ล้านคน เพิ่มจาก 17ล้านคน
Modern Trade จะเติบโต ความต้องการซื้อบ้าน ซื้อรถ จะเพิ่มมากขึ้น จะมีการซื้อมหาศาล รวมถึงความมั่นคงทางด้านการเมืองและนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐ จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีถึง 16 ฉบับ
เมื่อพูดถึงจุดแข็งของเวียดนาม :
เสถียรภาพสถานการณ์ทางการเมืองของเวียดนามในปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามมีการดำเนินแคมเปญเพื่อการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต่อต้านทุจริตเป็นการทำงานแบบพรรคเดียวมีอำนาจควบคุมทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งผู้นำคนปัจจุบัน ท่าน โต เลิม ไม่ได้แค่มุ่งเน้นในการต่อต้านทุจริตเพียงอย่างเดียวแต่ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกด้วย
ความมั่นคงทางการเมืองมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยในปี 2024 เวียดนามตั้งเป้าหมายเติบโตอยู่ที่ 6-6.5% ตลอดทั้งปี โดยในปี 2566 เวียดนามมี GDP 433,000 ล้านเหรียญ USD ในขณะที่ไทยมี GDP 548,000ล้านเหรียญ USD เชื่อว่าภายใน 3 ปีประเทศเวียดนามอาจจะตามไทยทันได้
รัฐบาลสามารถรักษาการเติบโตนี้ได้ด้วยการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในสาขาที่สำคัญ เช่น เทคโนโลยีขั้นสูง AI และเทคโนโลยีสีเขียว
รัฐบาลมีการวางแผนระยะยาว 30 ปี จนถึงปี 2045 ซึ่งทุกปีจะมี Action Plan เพื่อชี้วัดความสำเร็จให้เป็นไปตามเป้าหมาย สร้าง Eco-system ที่เป็นปัจจัยที่ดีในการดึงดูด FDI ทำให้ประเทศเป็น Hub การผลิตไม่ว่าจะเป็น Apple Sumsung Xiao Mi เน้นอุตสาหกรรม Semi-Conductor ทำให้มูลค่าการค้าของเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น
ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เวียดนามยังคงใช้ยุทธศาสตร์ 'การทูตไผ่ลู่ลม' (bamboo diplomacy) รักษาสมดุลระหว่างมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริการัสเซีย และจีน จะเห็นได้ว่ามีเยือนเวียดนามครั้งสำคัญของผู้นำไม่ว่าจะเป็น ปูติน สีจิ้นผิง และไบเดน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเวียดนามในฐานะจุดหมายปลายทางที่มั่นคงสำหรับการลงทุน และความสามารถในการจัดการบริหารความสัมพันธ์อย่างลงตัว
นอกจากนี้ เวียดเกี่ยว หรือชาวเวียดนามโพ้นทะเลยังสร้างรายได้เข้าประเทศด้วยการส่งเงินกลับมาปีละ 5 แสนล้านบาท เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์
เวียดนามเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีแรงงานมาก ที่มีความและอายุน้อย เฉลี่ย 32.8 ปีที่ขยันและมีการศึกษาสูง พร้อมทั้งชนชั้นผู้บริโภคที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว วันนี้แรงงานในเวียดนามมีจำนวนมากกว่า 52 ล้านคน โดยมีความหลากหลายในภาคบริการ อุตสาหกรรม การก่อสร้าง และเกษตรกรรม ขณะเดียวกันมีแรงงานภาคการเกษตรกว่า 36 ล้านคน ซึ่งเป็นขนาด GDP เพียง 10% และจะมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก
ทั้งนี้ และมีการตั้งเป้าว่า GDP ต่อหัวจะโตจาก 4,300 USD เป็น 30,000 USD ในปี 2050
ชนชั้นผู้บริโภคของเวียดนามก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ชนชั้นกลางที่มีรายได้สูงขึ้นและการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น มักอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น ฮานอย และโฮจิมินห์ซิตี้ ทำให้เกิดโอกาสในตลาดสินค้าและบริการมากมาย โดยชนชั้นกลางเหล่านี้มีความสนใจในการลงทุนในด้านการศึกษา สุขภาพ ที่อยู่อาศัย และการท่องเที่ยว
สำหรับข้อตกลงการค้าเสรี ปัจจุบันเวียดนามมีความตกลงทางการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) จำนวน 16 ฉบับ 54 ประเทศ โดยแบ่งเป็นความตกลงทวิภาคีจำนวน 7 ฉบับ และระดับภูมิภาค 9 ฉบับ ซึ่งตอนนี้มีการเซ็นเพิ่มกับ อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรต UAE แล้วและกำลังมีการเจรจาเพิ่มเติมกับกลุ่มประเทศละตินอเมริกา(บราซิล)และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย (นอร์เวย์ ฟินแลนด์) ข้อตกลงเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างบทบาทของเวียดนามในฐานะศูนย์กลางทางการผลิตและส่งออกที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เวียดนามมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีองค์ประกอบหลักหลายด้านที่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งจากการที่เวียดนามมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 37% ถือว่าค่อนข้างต่ำ ทำให้ รัฐบาลมีเงินที่จะเตรียมลงทุน โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ตั้งเป้าปีละ 1 ล้านล้านบาทไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสร้างเทอมินอลในสนามบินเพิ่มทั้งภาคเหนือและใต้ยังมีการขยายขนาดของท่าเรือสำคัญอย่างไฮฟองและบาเรีย-หวุงเต่าเพื่อรองรับการส่งออกที่จะเพิ่มมากขึ้น
ในด้านโครงสร้างพื้นฐานการผลิตและพลังงานเวียดนามมีการตั้งเป้าหมายให้ประเทศเป็น Net Zero ภายในปี2050 และเร่งการปรับเปลี่ยนเป็นการใช้ Renewable energy ทั้งหมด ปัจจุบันนี้ค่าไฟของเวียดนามราคาถูกมากอยู่ที่ประมาณ 2.5-2.8 บาทต่อหน่วย มีการใช้พลังงานจากถ่านหินประมาณ 30% พลังงานน้ำ 30% และอื่นๆ ในส่วนของกำลังการผลิตไฟฟ้าตั้งเป้าผลิตให้ได้ 130,000 เมกกะวัตต์ ในปี 2030
สภาพเศรษฐกิจที่มั่นคง เวียดนามมีสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่นคงในปี 2024 ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ให้ความสำคัญกับการควบคุมเงินเฟ้อให้ต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ ค่าเงินนิ่งกว่าเงินบาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
เหล่านี้ทำให้ต้นทุนการผลิตในเวียดนามต่ำ ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ การส่งออกของเวียดนามส่งออกอย่างก้าวกระโดด และทำให้เวียดนามได้ดุลการค้ากว่า 700,000 ล้านบาท
ด้านจุดแข็งของประเทศไทย ยังมีปัจจัยหลายด้านที่เหนือกว่าเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน
โลจิสติกส์ และห่วงโซอุปทาน อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อมั่นว่าไทยยังมีศักยภาพขยายตัวได้มากกว่านี้ หากไทยกับเวียดนามมีการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมกันมากขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการผลิตขั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล การผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรม พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องจักรกล
นอกจากนี้โดยทั้งสองประเทศมีความแข็งแกร่งในด้านการเกษตรและการผลิตอาหาร การเชื่อมโยงในด้านห่วงโซ่อุปทานด้านการแปรรูปอาหาร การพัฒนานวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์และการขนส่งโดยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่ไทยและเวียดนามจะร่วมมือกันในด้านพลังงานสีเขียว ในด้านของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นอีกด้านหนึ่งที่มีโอกาสสูง
สำหรับภาคธุรกิจที่สนใจจะไปลงทุนในเวียดนาม :
นักลงทุนต้องทำความเข้าใจและติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการกำหนดกลยุทธ์และแนวทางในการดำเนินธุรกิจในสอดคล้องและประโยชน์ในการปะะกอบการ โดยไม่ควรใช้โมเดลการทำธุรกิจในไทยมาทำในเวียดนาม เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคใต้
ทั้งนี้ นักธุรกิจและนักลงทุนควรปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ต่อนโยบายของรัฐบาลเวียดนาม ถือเป็นเรื่องที่นักลงทุนควรให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ทำความเข้าใจในรายละเอียดของ Joint Venture ในการลงทุนร่วมกันคู่ธุรกิจขาวเวียดนามอย่างระมัดระวัง เพื่อให้เกิดความใจที่ถูกต้องและโปร่งใสในทุกๆด้าน
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทยพร้อมทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเพื่อเจรจากับภาครัฐของทั้งไทยและเวียดนามเพื่อแก้ไขปัญหา อุปสรรคข้อติดขัด ด้านการค้าการลงทุน ผลักดันเรื่องการขอสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนไทย รวมถึงการสนับสนุนสินค้าท้องถิ่น OTOP ของไทยและ OCOP ของเวียดนามผ่านความร่วมมือ Sister City บ้านพี่เมืองน้องระหว่างไทยและเวียดนาม
ทั้งนี้ ผมมองว่าไทยยังมีโอกาสอีกมาก เพราะคนเวียดนามชอบคนไทย ชอบสินค้าไทย เรายังมีโอกาสด้านการท่องเที่ยว ซึ่งในปีนี้มีคนเวียดนามมาเที่ยวไทยถึง 1.4 ล้านคน คนไทยไปเที่ยวเวียดนาม 5 แสนคน
นอกจากนี้ประเทศไทยมีความพร้อมด้าน Hospitality สูงสามารถที่จะถ่ายทอดให้ประเทศเวียดนามได้ ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสของประเทศไทยในการที่จะดึงคนเวียดนามที่มีฐานะเข้ามารักษาสุขภาพหรือใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยแทนที่จะไปสิงคโปร์
ปี 2566 การค้าไทยเวียดนามมูลค่า 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออก 1.1 หมื่นล้านเหรียญ นำเข้า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้าอยู่ 3.4 พันล้านเหรียญ
ท้ายสุดนี้ ผมขอฝากไว้ว่า ไทยและเวียดนามไม่ควรมองกันเป็นคู่แข่ง แต่เราคือพันธมิตรที่มีศักยภาพในการเติบโตไปด้วยกัน การผสานจุดแข็งของทั้งสองประเทศ ไทยที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร สุขภาพ และบริการ และเวียดนามที่มีแรงงานคุณภาพ ประชากรวัยทำงาน และการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น หากเราสามารถเติมเต็มจุดอ่อนของกันและกัน เราจะสามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง สร้างอนาคตที่สดใสและเติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน” คุณสนั่นกล่าวปิดท้าย
หลังจากนั้นเป็นการเสวนา การเชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่น (Connectiong Local Economies) ในหัวข้อ “การเชื่อมโยงธุรกิจท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจข้ามแดนไทย-เวียดนาม” โดย ดร.ทอง กุลธัญวัฒน์ นายกสมาคมนักธุรกิจไทย-เวียดนามแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการ บริษัท วีทีแหนมเนือง จำกัด วีทีแหนมเนือง คอมมูนิตี้ คอมมูนิตี้มอลล์
การเสวนา การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Connecting Sustainable Development Strategies) ในหัวข้อ “การเชื่อมโยงโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทยกับยุทธศาสคร์การพัฒนาสีเขียวของเวียดนาม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดย ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
ดำเนินรายการโดย ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์ ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเสวนาวิชาการการขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างไทยกับเวียดนาม ภายใต้ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยง 3 ด้าน (Three Connects) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เกี่ยวก้บแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับเวียดนามในหลายมิติ โดยมีการอภิปรายเกี่ยวกับการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจท้องถิ่น และยุทธศาสตร์การพัฒนา เน้นความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและเวียดนาม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่มา สมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม