รู้จัก FTA คืออะไร ไทยได้อะไรจากการเจรจา EFTA กับประเทศในยุโรป
รู้จักการทำข้อตกลง FTA เขตการค้าเสรี แล้วประเทศไทยจะได้อะไรบ้าง หลังกระทรวงพาณิชย์เจรจาข้อตกลง EFTA กับสหภาพยุโรปได้สำเร็จ
โอกาสทางการค้าได้เริ่มต้นแล้ว หลังกระทรวงพาณิชย์สามารถเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศยุโรปได้สำเร็จ นับเป็น FTA ฉบับแรกของไทยที่ตกลงร่วมกับประเทศยุโรป และเป็นฉบับแรกของรัฐบาลชุดนี้ด้วย ซึ่ง FTA คืออะไร และมีความสำคัญกับประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน ?
FTA (Free Trade Area) หรือเขตการค้าเสรี เป็นการทำความตกลงทางการค้าของประเทศตั้งแต่ 2 ประเทศ (ทวิภาค) หรือเป็นหลายประเทศรวมกัน (พหุภาคี) ที่จะร่วมมือขจัดอุปสรรคทางการค้า โดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างกันภายในกลุ่มทั้งที่เป็นภาษีศุลกากร และไม่ใช่ภาษีศุลกากร ที่ทำข้อตกลงให้เหลือน้อยที่สุด และใช้อัตราภาษีปกติที่สูงกว่ากับประเทศนอกกลุ่ม
ในอดีตการทำค้าเสรีนั้นมุ่งเน้นด้านสินค้าเป็นหลัก โดยการลดภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี แต่ในระยะหลังมานี้ จะมีการเหมารวมถึงการเปิดเสรีการค้าด้านอื่นด้วย อาทิ การบริการการลงทุน เป็นต้น
การจัดทำนโยบายการค้าเสรี เริ่มต้นจากแต่ละประเทศเลือกผลิตสินค้าที่ตัวเองถนัด และมีต้นทุนการผลิตต่ำ คือ จะผลิตสินค้าที่คิดว่าประเทศของตัวเองได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) มากที่สุด แล้วนำสินค้าเหล่านี้ไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่ไม่ถนัดผลิต หรือเสียเปรียบ โดยแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่ประเทศอื่นถนัด
FTA ให้ประโยชน์อะไร?
ดังนั้น ประเทศทั้งสอง หรือหลายประเทศที่ทำการตกลงกันก็จะทำการค้าต่อกันได้ โดยต่างฝ่ายต่างสมประโยชน์ต่อกัน (Win-Win Situation) โดยนโยบายการค้าเสรี มีดังนี้
(1)การผลิตตามหลักการแบ่งงาน การเลือกสินค้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ และประเทศมีศักยภาพในการผลิตสินค้าสูง
(2)ไม่เก็บภาษีคุ้มกัน (Protective Duty) เพื่อคุ้มครอง หรือปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ
ไม่ให้สิทธิพิเศษ หรือกีดกัดสินค้าของประเทศใดประเทศหนึ่ง
(3)เรียกเก็บภาษีในอัตราเดียวกัน และให้ความเป็นธรรมแก่สินค้าของทุกประเทศเท่ากัน คือ
(4)ไม่มีข้อจำกัดทางการค้า (Trade Restriction) ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ
ไม่มีการควบคุมการนำเข้า หรือส่งออกที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ
(5)ยกเว้นการควบคุมสินค้าบางอย่างที่เกี่ยวกับสุขอนามัย และเป็นอันตรายต่อมนุษย์ และสินค้าที่เกี่ยวด้วยศีลธรรม จรรยา หรือความมั่นคงของประเทศ
การทำ FTA เกิดขึ้นทั้งผลประโยชน์และผลกระทบ คู่เจรจาต่างจึงพยายามรวบรวมข้อมูล ศึกษา เพื่อเจราจาให้ต่างฝ่ายพึงพอใจ และได้รับผลประโยชน์มากที่สุด หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่อย่างไรก็ตามสภาพแวดล้อมเฉพาะของแต่ละคู่เจรจาก็จะแตกต่างกันไป
แต่ละด้านของ FTA จะมีบางกลุ่มอุตสาหกรรม หรือสินค้าที่ได้ประโยชน์ และบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ การเจรจาก็สามารถยืดเวลาในการลดหรือยกเว้นภาษีออกไปจนกว่าภาคการผลิตจะสามารถปรับตัวได้ หรือภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยผลกระทบเหล่านั้น โดยภาพรวมของประโยชน์ที่จะได้รับมีดังนี้
(1)ลดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นอุปสรรคทางภาษี และไม่ใช่ภาษี
(2)เพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก
(3)เพิ่มโอกาสการส่งออกจากการได้มาซึ่งตลาดใหม่ และการขยายตลาดเดิม
(4)เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
(5)สร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ และการเมือง
(6)ให้ความร่วมมือทางด้านศุลกากร การแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลการลักลอบ และสินค้าอันตราย สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์
(7)พัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
(8)ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ และเทคโนโลยีการผลิต
(9)สร้างความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ตัวอย่างของ FTA ที่สำคัญ ได้แก่ :
-NAFTA (North American Free Trade Agreement) : ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement)
-EU Free Trade Agreements : ข้อตกลงการค้าเสรีที่สหภาพยุโรปทำกับหลายประเทศและกลุ่มประเทศต่าง ๆ
-ASEAN Free Trade Area (AFTA) : ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถานะไทยใน FTA :
หลังจากกระทรวงพาณิชย์ปิดดีล FTA ไทย-EFTA ได้สำเร็จ เกิดเป็นการลงนาม FTA เป็นฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ณ ที่ประชุม World Economic Forum 2025
โดยการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ประกอบด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ สามารถสรุปการเจรจาได้ 15 เรื่อง สอดคล้องกับการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแต้มต่อให้ผู้ประกอบการไทยในการประกอบธุรกิจและปูทางสำหรับการเจรจา FTA กับคู่ค้าสำคัญอื่น ๆ
นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเอฟตาแล้ว FTA ฉบับนี้ยังจะส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในสาขาต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง การพัฒนาทุนมนุษย์ การส่งเสริม SMEs และการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
ทำให้ในตอนนี้ไทยมี FTA ทั้งหมด 16 ฉบับ กับ 23 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ได้แก่
-ความตกลง TAFTA-ออสเตรเลีย
-ความตกลง TNZCEP-นิวซีแลนด์
-ความตกลง JTEPA-ญี่ปุ่น
-ความตกลง TIFTA-อินเดีย
-ความตกลง TPFTA-เปรู
-ความตกลง TCFTA-ชิลี
-ความตกลง AFTA-อาเซียน
-ความตกลง ACFTA-จีน
-ความตกลง AIFTA-อินเดีย
-ความตกลง AJCEP-ญี่ปุ่น
-ความตกลง AKFTA-เกาหลีใต้
-ความตกลง AANZEFTA-ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
-ความตกลง AHKFTA-ฮ่องกง
-ความตกลง RCEP-อาเซียน+5 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์)
-ความตกลง EFTA-สมาคมการค้าเสรียุโรป
-ความตกลง SLTFTA-ศรีลังกา
ย้อนกลับไปในช่วง 11 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยและ EFTA มีมูลค่าการค้ารวม 11,467.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 2.05 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 24.94 โดยไทยส่งออกไปยัง EFTA 4,121.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจาก EFTA 7,345.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง และสินค้านำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยอัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 24 มกราคม 2568